ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ดูงานแยกขยะ - จัดการฝุ่น PM2.5 ที่ไทเป ชี้ปัญหาทั้ง 2 อย่างคล้ายกรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเข้าใจ และเอาจริงในการแก้ปัญหาของผู้บริหาร ร่วมกับความร่วมมือของภาคประชาชน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าต่อถึงการมาดูงานเรื่องการจัดการเมืองที่นครไทเป เกาะไต้หวัน ที่ตนได้รับเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

โดยเป็นวันที่ 2 ของการดูงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและพวกเราหลายๆ คนได้แนะนำมา คือการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมของนครไทเป

เริ่มจากการแวะไปที่ Energy Hill ซึ่งแต่เดิมเป็นหลุมฝังกลบขยะขนาดใหญ่ของนครไทเป แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเนื่องจากนโยบาย Zero Waste ที่ทำการคัดแยกขยะ แทบจะไม่เหลือการฝังกลบขยะและมีการใช้พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ของบ่อขยะเดิมเพื่อทำเป็น Solar Farm ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่เริ่มการผลิตไฟฟ้าแล้ว เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการเปลี่ยนจากพื้นที่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม (ด้วยการฝังกลบขยะ) มีเป็นพื้นที่ที่ช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยการผลิตกำลังไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์

จากนั้น ไปดูงานที่สำนักรักษาสิ่งแวดล้อม (Department of Environmental Protection) ของนครไทเป โดยมีสองเรื่องคือเรื่องการจัดการขยะ และ การจัดการฝุ่น PM 2.5

ในการจัดการขยะนั้น นครไทเป ใช้นโยบายหลักๆ 2 เรื่องคือ

- การแยกขยะครัวเรือน (Separate Household Waste)

- การไม่ให้ขยะแตะพื้น (Keep Trash Off the Ground)

โดยการแยกขยะ นครไทเปจะแยกขยะเป็น 3 ประเภท คือ ขยะทั่วไป (เอาไปเผา) ขยรีไซเคิล (เอาไปใช้ใหม่) และ ขยะเปียกจากครัว (Kitchen Waste: เอาไปทำปุ๋ยหมัก หรือ อาหารสัตว์)

โดยขยะทั่วไป ต้องซื้อถุงขยะโดยเฉพาะของนครไทเปในการใส่ขยะ (หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป) โดยคิดราคาตามขนาดของถุง มี 6 ขนาด ส่วนขยะรีไซเคิล กับขยะเปียกจากครัว ไม่เสียเงินในการทิ้ง

การไม่ให้ขยะแตะพื้นนั้น ทำโดยรถขยะจะมาตามเส้นทางและเวลาที่กำหนด โดยมีเส้นทาง 188 เส้นทาง และ จุดเก็บมากกว่า 4,000 จุด ไม่มีการเอาขยะไปกองไว้ก่อนเวลาเหมือนที่บ้านเรา รถขยะจะมาพร้อมกันสองคัน พร้อมกับเสียงเพลงเพื่อเป็นสัญญานให้คนนำขยะมาทิ้ง รถคันแรกจะเป็นขยะทั่วไปที่ต้องใช้ถุงที่ซื้อมาของนครไทเปในการทิ้ง รถอีกคันจะใส่ขยะรีไซเคิล กับขยะเปียกจากครัว ขยะสองประเภทหลังนี้ ไม่ต้องเสียเงินในการทิ้ง ขยะเปียกต้องใส่ถังถือมาเทเอง

การคัดแยกขยะนั้น นครไทเปมีคู่มือละเอียดในการแนะนำวิธีการคัดแยกขยะ โดยมีการออกคู่มือที่อธิบายการแยกขยะแบบละเอียด อ่านเข้าใจง่าย โดยแยกขยะเป็นแบบที่ รีไซเคิลได้ กับ รีไซเคิลไม่ได้ไว้อย่างชัดเจน

ดร. อัลเบิร์ต เซา-โชว เฉิน (Albert Tsao-Chou Chen) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักรักษาสิ่งแวดล้อม ได้พาเดินชมการคัดแยกขยะรีไซเคิล ที่ขนมาที่ศูนย์คัดแยก โดยจะเห็นได้ว่าที่ศูนย์คัดแยกนี้ใช้คนในการคัดแยก แต่ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนศูนย์คัดแยกที่ผมไปดูที่สมุทรสาคร เพราะที่นครไทเป ได้มีการคัดแยกขยะเปียกจากครัวออกไปแล้ว ทำให้ขยะที่เหลือไม่มีการเน่าเหม็น การคัดแยกทำได้ง่ายขึ้นมาก ดร.อัลเบิร์ต ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เริ่มโครงการแยกขยะและขายถุงขยะในปี คศ.2000 นั้น ปริมาณขยะลดลงมาก และ ขยะรีไซเคิล เพิ่มสูงขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนนั้น อยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์ไต้หวัน (NT$) ต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งใกล้เคียงกับบ้านเรา (1 ดอลลาร์ไต้หวัน ประมาณเท่ากับ 1 บาท)

นอกเหนือจากการคัดแยกขยะแล้ว ศูนย์นี้ยังทำหน้าที่รียูส หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยการนำเฟอร์นิเจอร์ จักรยาน และ เครื่องใช้ต่างๆที่ชำรุดเสียหาย คนทิ้ง เอามาซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีและขายในราคาไม่แพง เป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานและลดขยะด้วย

เรื่องสำคัญอีกเรื่องของนครไทเปคือเรื่องคุณภาพอากาศ โดยเขาใช้มาตรฐาน PM 2.5 ว่าค่าเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร โดยกำหนดเป้าหมายของค่าเฉลี่ยรายปีดังนี้

ปี 2020 ไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร

ปี 2025 ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร

ปี 2030 ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร (ตามมาตรฐาน WHO)

(ของบ้านเราปัจจุบันกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อ ลบ.เมตร)

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 41 ของฝุ่น PM 2.5 ในนครไทเป มาจากรถยนต์ ทั้งเครื่องเบนซิน ดีเซล และ จักรยานยนต์ โดยมีนโยบายในการแก้ปัญหาดังนี้

- Low Emission Vehicle ลดการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากยานพาหนะ

กำหนดเขตอากาศสะอาด Low Emission Zone โดยใช้ระบบการตรวจจับทะเบียนรถเพื่อหารถที่ก่อมลภาวะบนถนน และ กำหนด พื้นที่ที่ต้องรักษาปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยจะห้ามรถที่ก่อมลภาวะเข้ามาในพื้นที่นั้น

- Replacement of Old Diesel Truck การเปลี่ยนรถบรรทุกดีเซลเก่า

ภายในปี 2020 เปลี่ยนรถขนขยะจำนวน 291 คันให้เป็นรถปลอดมลพิษ และติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นสำหรับรถดีเซลเก่าจำนวน 390 เครื่องใช้ยานพาหานะที่ลดการปล่อย PM 2.5 เช่น ตรวจจับรถที่ปล่อย PM 2.5

- Replacement of 2 Stroke Scooter การเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์สองจังหวะ

ชดเชยเงิน 22,000 NT$ สำหรับการเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์สองจังหวะ เป็นมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า และ เพิ่มอีก 10,000 NT$ สำหรับผู้มีรายได้น้อย กำจัดรถมอเตอร์ไซค์สองจังหวะที่มีอยู่ 47,000 คัน จนปัจจับันมีเหลือประมาณ 35,000 คัน

- Electric Bus Fleet การจัดหารถเมล์ไฟฟ้า

ในเดือน ตุลาคม 2018 มีรถเมล์ไฟฟ้า 22 คัน และ จะจัดหาเพิ่มเป็น 400 คันในปี 2019-2022 โดยจะได้รับเงินอุดหนุนสำหรับรถเมล์ไฟฟ้า 5NT$ ต่อ กิโลเมตร

- Electric Mobility Infrastructure การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานพาหนะไฟฟ้า

มีการเตรียมที่ชาร์จไฟฟ้าใกล้ๆ MRT และ ที่จอดรถสาธารณะ ให้ที่จอดรถฟรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีโครงการ 4U ที่ใช้ยานพาหนะร่วมกันสำหรับ WeMo E-Scooter You-Bike U-Park Sharing

- Green Transportation มีการส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ออกตั๋วเดือนสำหรับใช้รถเมล์ และ รถไฟฟ้า MRT ในนครไทเปและปริมณฑล แบบไม่อั้น ราคา 1,280 ดอลลาร์ไต้หวัน (ถูกมากๆ) และ จะเริ่มเก็บค่าจอดรถสำหรับมอเตอร์ไซค์ที่จอดริมถนนในย่านการค้า และ พื้นที่ใกล้ MRT

- Clean Fuel for Power Plant & Boiler มีการให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาดสำหรับโรงไฟฟ้าและหม้อน้ำในโรงแรม โรงพยาบาล

- Upgrade AQ Monitoring พัฒนาระบบแจ้งคุณภาพอากาศ สร้างเครื่องข่ายของการตรวจคุณภาพอากาศ AirBox ที่มีเครื่องตรวจคุณภาพอากาศราคาไม่แพง ให้ประชาชนติดตั้ง และ สร้างเครือข่ายเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งประเทศ

ปัญหาทั้งเรื่องขยะ และ เรื่องคุณภาพอากาศ เป็นเรื่องที่ทั้งนครไทเป และ กรุงเทพฯ เจอเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจและเอาจริงในการแก้ปัญหาของผู้บริหาร ร่วมกับความร่วมมือของภาคประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง