ไม่พบผลการค้นหา
ศิลปินและนักกีฬาเกาหลีใต้ 190 คนเดินทางไปเกาหลีเหนือเพื่อสานวัฒนธรรมช่วง 1-3 เม.ย. ได้รับความสนใจจากคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ แต่ไม่ได้หมายความว่าการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีจะดำเนินไปอย่างราบรื่น

ซอฮยอน นักร้องหญิงคนดังของเกาหลีใต้ สมาชิกวงเกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น เป็นหนึ่งในศิลปิน เกือบสองร้อยคนที่ได้รับเลือกไปแสดงคอนเสิร์ตที่โรงละครอีสต์เปียงยาง ในกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา และเธอได้กล่าวบนเวทีว่า "ดอกไม้แห่งความหวังเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีได้เบ่งบานขึ้นแล้ว"

ซอฮยอนเลือกร้องเพลง Greenish Willow Tree เพลงยอดนิยมฝั่งเกาหลีเหนือ และได้รับความร่วมมือจากแฟนเพลงชาวเกาหลีเหนือเป็นอย่างดี เพราะทั้งโบกมือและร้องเพลงคลอไปด้วยตลอดการแสดง

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการแสดงนั้นมีเรื่องนอกเหนือกำหนดการเกิดขึ้น คือ นายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และรีโซลจู ผู้เป็นภริยาของคิมจองอึน เดินทางมาชมการแสดงของศิลปินเกาหลีใต้ด้วยโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้คอนเสิร์ตเริ่มช้ากว่ากำหนดไปประมาณชั่วโมงกว่า แต่สื่อเกาหลีเหนือบันทึกภาพขณะคิมจองอึนปรบมือให้กับการแสดงจากฝั่งของเกาหลีใต้เอาไว้ได้ นอกจากนั้น คิมจองอึนและรีโซลจูยังทักทาย 'เรดเวลเว็ท' วงดนตรีเกิร์ลกรุ๊ปที่โด่งดังของเกาหลีใต้ที่เข้าร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงเปียงยาง และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับศิลปินทั้งหมดด้วย

สำนักข่าวกลางแห่งเกาหลี (KCNA) สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานว่าผู้นำคิมจองอึนรู้สึก 'ตื้นตันใจ' ที่ได้ชมการแสดงอันจริงใจ และได้เห็นประชาชนเกาหลีเหนือทำความรู้จักวัฒนธรรมป๊อปจากฝั่งเกาหลีใต้ ทั้งยังระบุว่าเขาอยากให้จัดคอนเสิร์ตแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งสื่อเกาหลีใต้ 'ยอนฮัป' รายงานว่านี่คือ 'สัญญาณที่ดี' และน่าจะเป็นผลดีกับการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เม.ย.ที่พันมุนจอม เขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ โดยเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 3 นับจากสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 เป็นต้นมา

concert01.jpg

'การทูตเกาหลีเหนือ' เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

สื่อมวลชนในเกาหลีใต้ รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทในการจัดการปัญหาตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จับตามองการแสดงวัฒนธรรมระหว่างเกาหลีเหนือและใต้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2546 และเป็นการเลือกเดิน'เกมการทูต' ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักจากเกาหลีเหนือ

นิวยอร์กไทม์รายงานว่าเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือและใต้ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ซึ่งย้ำว่าการยุติปัญหาตึงเครียดและการผลักดันให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ต้องใช้แนวทางการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพเท่านั้น ไม่ใช่การกดดันให้เกิดการใช้กำลัง ซึ่งเป็นการเตือนทางอ้อมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใช้ท่าทีแข็งกร้าวปะทะกับผู้นำเกาหลีเหนือมาตลอด

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นยังรายงานด้วยว่า การต้อนรับศิลปินจากเกาหลีใต้ ต่อเนื่องจากการที่คิมจองอึนและภริยาเดินทางเยือนจีนเมื่อปลายเดือน มี.ค. บ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือต้องการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ ว่า 'พร้อม' สำหรับการเจรจา แต่มีเงื่อนไขว่า 'จีน' ต้องเป็นตัวแปรที่สำคัญ ไม่ใช่สหรัฐฯ

concert02.jpg

(วงเรดเวลเว็ทได้รับการทักทายจากคิมจองอึนและรีโซลจูหลังจบการแสดงที่เปียงยาง)

อีกประการหนึ่งที่เกาหลีเหนือต้องเดินเกมทางการทูต มาจากข้อเท็จจริงว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกนั้นค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปในสังคมเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะแม้จะมีการควบคุมข่าวสารในเกาหลีเหนือ แต่ภาพยนตร์ ละคร เพลง หรือข้อมูลจากต่างประเทศได้ถูกลักลอบนำเข้าและจำหน่ายในตลาดมืดเกาหลีเหนือมานานแล้ว ส่วนใหญ่ลอบนำเข้าจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีเหนือ

จากคำให้การของชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ซึ่งลี้ภัยมายังเกาหลีใต้ในแต่ละปี สะท้อนว่าสื่อต่างๆ ของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมแบบลับๆ ในเกาหลีเหนือ แม้ประชาชนธรรมดาที่ถูกจับได้ว่ามี 'สื่อต้องห้าม' จะถูกลงโทษอย่างหนัก แต่กระแสความนิยมสื่อต่างชาติในเกาหลีเหนือก็ไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมลงง่ายๆ และวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีใต้ก็ถือว่าเป็น 'ซอฟต์เพาเวอร์' ที่มีอานุภาพมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้ง K-Pop และ K-Drama สามารถส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และสหรัฐฯ การแทรกซึมสู่สังคมเกาหลีเหนือจึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย และวัฒนธรรมป๊อปเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้เชื่อมโยงและปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวเกาหลีเหนือที่มีต่อเกาหลีใต้ การควบคุมที่เข้มงวดของรัฐบาลเกาหลีเหนือจะทำให้วัฒนธรรมป๊อปเหล่านี้ยิ่งทวีความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่ต้อง 'แสวงหา' และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า 'ทำไมจะต้องห้าม'

คิมจองอึน

แต่ความหวังรวมชาติ 'ยังห่างไกล'

แม้ท่าทีระหว่างเกาหลีเหนือและใต้จะเริ่มผ่อนคลาย แต่นักวิเคราะห์มองว่านโยบายที่จะทำให้เกิดการรวมชาติยังไม่เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันไกล เพราะคิมจองอึนยังเป็นผู้นำที่นานาประเทศคาดเดาไม่ได้ และไม่อาจกดดันด้วยธรรมเนียมสากลใดๆ ถ้าไม่มีการ 'ปรับสภาพ' เพื่อลดทอนชนวนเหตุที่อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันลงเสียก่อน ก็ไม่มีทางเจรจาเรื่องการรวมชาติได้สำเร็จ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องคุยเป็นเรื่องการสะสมกำลังทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ และบรรดาประเทศที่คอยหนุนหลังทั้งสองฝ่าย โดยกรณีของเกาหลีเหนือยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เพราะท่าทีของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการทหารแก่เกาหลีใต้ก็ชัดเจนมาตลอดว่าไม่พอใจ การครอบครองนิวเคลียร์จึงเป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญของเกาหลีเหนือ

ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้ในยุคของมุนแจอิน ประธานาธิบดีที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายและไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายทางทหารจัดการเกาหลีเหนือ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การฟื้นฟูการเจรจากับเกาหลีเหนือกลับมามีความหวังในยุคนี้ แต่มุนแจอินปฏิเสธไม่ได้ว่าเกาหลีเหนือถือเป็นภัยคุกคามในคาบสมุทรเกาหลีจริง และการแสดงวัฒนธรรมที่เปียงยางก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่าเกาหลีเหนือมีเรื่องที่ต้องสะสางกับเกาหลีใต้อีกมาก

คิมจองอึน

กรณีหนึ่งที่สื่อเกาหลีใต้รายงานด้วยความไม่พอใจก็คือกรณี 'คิมยงชอล' ผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพเกาหลีเหนือ สั่งห้ามผู้สื่อข่าวจากเกาหลีใต้ติดตามไปรายงานภาพคิมจองอึนพบกับศิลปินเกาหลีใต้ โดยมีการจำกัดบริเวณให้ผู้สื่อข่าวเกาหลีใต้อยู่แต่ในห้องสื่อ ทั้งยังสั่งห้ามถ่ายทอดสด และภาพบันทึกการแสดงทั้งหมดจะจัดการโดยฝ่ายเกาหลีเหนือเท่านั้น ซึ่งกว่าทีมสื่อเกาหลีใต้จะนำไปตัดต่อและออกอากาศที่เกาหลีใต้ได้ก็ต้องเป็นวันที่ 5 เม.ย.

'คิมยงชอล' ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการยิงขีปนาวุธจมเรือเกาหลีใต้ในปี 2553 ซึ่งทำให้มีพลทหารเกาหลีใต้เสียชีวิต แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการคลี่คลายจนถึงปัจจุบัน และท่าทีของคิมยงชอลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเกาหลีเหนือยังควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด

แม้ทางการเกาหลีเหนือจะออกแถลงการณ์ขออภัยสื่อเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา แต่การปิดกั้นไม่ให้สื่อเกาหลีใต้พบกับคิมจองอึนก็เป็นท่าทีชัดเจนว่าเกาหลีเหนือยังไม่พร้อมที่จะให้ผู้นำ 'ถูกตั้งคำถาม' จากสื่อ ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องปกติในสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย

สิ่งที่จะต้องทำเพื่อนำไปสู่การรวมชาติระหว่างเกาหลีเหนือและใต้อันดับแรก จึงได้แก่ "การผ่อนคลายเงื่อนไขปิดกั้นประชาชน" รวมถึงต้องประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ เพราะนับตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา มีเพียงการประกาศหยุดยิงเกิดขึ้นเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่ยอมถอนการสนับสนุนที่มีต่อสองประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: