ไม่พบผลการค้นหา
ลูกหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นหนี้เสียแล้วหรือยังไม่เป็น สามารถเข้าโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ของ ธปท.ได้ตั้งแต่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงยโยบายใหม่เน้นช่วยเหลือประชาชนให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ทั้งในฝั่งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยได้รับความร่วมมือกับ 21 สถาบันการเงินทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ รวมไปถึงศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี 

ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.ชี้ว่า ความช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ลูกหนี้มีทางเลือกในการชำระหนี้คืนมากขึ้น ทั้งยังรองรับลูกหนี้ในทุกสถานะได้แก่ 1.ลูกหนี้ที่ยังอยู่ในสถานะค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน หรือลูกหนี้ที่ยังไม่มีสถานะเป็นหนี้เสีย 2.ลูกหนี้บัตรสถานะหนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน และอยู่ในระยะก่อนฟ้องหรืออยู่ระหว่างการฟ้องร้อง และ 3.ลูกหนี้บัตรเสียที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 

ธปท
  • ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.

ลูกหนี้-เงื่อนไขช่วยเหลือ

สำหรับกรณีรุนแรงที่สุดซึ่งศาลมีคำตัดสินแล้ว และคดีตกไปอยู่กับกองบังคับคดีแล้วนั้น ตามปกติจะไม่มีการไกล่เกลี่ยเพื่อยอมหนี้ แต่มาตรการนี้ของ ธปท. ลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอในการจ่ายหนี้คืนเฉพาะเงินต้น โดยเจ้าหนี้จะยกดอกเบี้ยค้างให้เมื่อสามารถจ่ายหนี้ได้ตามสัญญา ซึ่งอาจแบ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน, 3 ปี หรือสูงสุด 5 ปี 

กรณีที่ลูกหนี้อยู่ในสถานะหนี้เสียที่ยังไม่มีการสั่งฟ้องหรืออยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นศาล ธปท.จะเข้าไปเป็นตัวกลางให้คะแนะนำในการไกล่เกลี่ย ทั้งจะนำโครงการคลินิกแก้หนี้ของ ธปท.เข้าไปร่วมกับฝั่งศาล ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเขาร่วมโครงการคลิกนิกแก้หนี้ได้ง่ายขึ้นจากที่ติดเงื่อนไขต้องเป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.ค. 2563 เปลี่ยนเป็น 1 ก.พ. 2564 

ท้ายสุด สำหรับลูกหนี้สถานะปกติที่เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน สามารถขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตให้กลายเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนได้นานขึ้นและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ซึ่งจะดีกว่าการจ่ายหนี้บัตรเครดิตแบบขั้นต่ำไปเรื่อยๆ 

ธัญญนิตย์ ปิดท้ายว่า ประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สามารถเข้าร่วมงานมหกรรม ไกล่เกลี่ยออนไลน์ในครั้งนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วม 

ทั้งนี้หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ fcc@bot.or.th เพื่อที่เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

หมายเหตุ : สถาบันการเงิน 21 แห่งที่เข้าร่วมโครงการของ ธปท.

ธปท