เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ม.ค. ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ทำกิจกรรมเรียกร้องรัฐบาลเยียวยาแรงงานถ้วนหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมี สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ร่วมกิจกรรม ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ร่วมสังเกตการณ์
สมยศ กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมมีเงินเพียงพอเยียวยาประชาชนทุกคน โดยมีเงินอยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เงินกำไรจากการลงทุนอีกหลายล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมจ่าย ปล่อยให้เป็นเรื่องของนายจ้างและลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสูญงบประมาณไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หากตัดตรงนี้ออกไป ประเทศชาติไม่ล่มจม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีตำแหน่งนายพลกว่าครึ่งของกองทัพที่ว่างงาน ซึ่งหากตัดออกไปได้ ประเทศไทยจะมีงบประมาณจำนวนมาก
ในช่วงท้าย ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 63 ได้มาร่วมกิจกรรม พร้อมปราศรัยว่า รัฐบาลไม่ควรให้ประชาชนรอสิทธิ์ชิงโชค รอรับเศษเงิน หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจะต้องให้เงินกับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม นอกจากนี้ การเยียวยา 7,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อดูแลครอบครัว ขอให้รัฐบาลหยุดอ้างว่าไม่มีงบประมาณ เพราะถ้าจัดสรรดีๆ รัฐบาลย่อมมีงบประมาณเพียงพอแน่นอน ขออย่าให้ประชาชนต้องรอรับเศษเงิน เศษทานอีกเลย ขอให้รัฐเห็นหัวประชาชนบ้าง
ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุ ว่าจากมติคณะรัฐนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ที่เห็นชอบโครงการ "เราชนะ" เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตร ผู้มีรายได้น้อย คล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสดและจะโอนผ่านแอปพลิเคชันสัปดาห์ละครั้งจนครบ สิ่งนี้ทำให้เราเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนคับข้องใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำแถลงของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ที่กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงินเพราะโควิดเข้ามาปะปนได้ และต้องการให้ประชาชนปรับตัวเป็นสังคมไร้เงินสด และถ้าให้เป็นเงินสด รัฐบาลจะจำกัดอะไรไม่ได้เลย เงินนั้นจะหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น สุรา การพนัน ห้างร้านขนาดใหญ่ และการจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการใช้เงินที่จำเป็นต่อชีวิต
จะเห็นว่าวิธีคิดของรัฐบาลเหมือนอยู่โลกคนละใบกับผู้ใช้แรงงานที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละคนอยู่แล้ว เช่น จ่ายค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ และต้องการควบคุมอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งมีลักษณะเผด็จการ เหมือนคุณพ่อรู้ดี ไม่สนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ดังเห็นได้จากมาตรการเยียวยารอบสองของรัฐบาล ที่ยังคงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง คือ แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน
จดหมายเปิดผนึก ระบุว่า รัฐต้องเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจ หน่วยงานทุกภาคส่วนคลุมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมราว 15 ล้านคน และนายจ้างร่วมสมทบเงินประกันสังคม เพราะพวกเขากำลังเผชิญปัญหาเรื้อรังมาตั้งต่การะบาดรอบแรกเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ การผลักให้พวกเขาไปใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งเป็นเงินของลูกจ้างตามประกาศของกระทรวงแรงงาน (จ่าย 62% ของคำจ้างพื้นฐานและ 50% ในรอบสอง) ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิ เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบบริษัทโรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง
จึงห็นว่ามีหลายบริษัทปรับโครงสร้างลดต้นทุน โยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนว่างงาน ซึ่งควรจ่าย 75% ตามกฎหมายแรงงาน และรัฐควรทดแทนรายได้ให้ครบ 100% แต่กลับไม่ทำไม่ว่าในกรณีใด ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการหลายกรณีถูกลดวันทำงาน โอที ลดค่าจ้าง ลาไม่ได้รับงินเดือน ถูกปรับสภาพการจ้างงานให้ยืดหยุ่นกว่าเดิมคือ No work n pay และเมื่อตกงาน อยู่ระหว่างเปลี่ยนสถานะผู้ประกันตนเป็นแรงงานนอกระบบกลายเป็นช่องว่างไม่ได้รับเงินเยียวยา หลายรายถูกเลิกจ้างไม่ป็นธรรม ถูกเบี้ยวค่าจ้างค่าชดเชยต้องเป็นภาระไปพ้องศาล ท้ายสุดลูกจ้างเป็นหนี้มากขึ้น แทนที่รัฐจะแบกหนี้เหล่านี้
เราต้องการให้รัฐใช้หลักคิดถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่กำหนดเงื่อนไขให้ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆของรัฐกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แรงงานทุกภาคส่วน เช่น ภาคศิลปวัฒนธรม คนทำงานกลางคืน แรงงานข้ามชาติ ในระบบและนอกระบบ ต้องได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หากงบประมาณไม่เพียงพอต้องพิจารณานำงบกองทัพ สถาบันที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย และเพิ่มฐานภาษีความมั่งคั่งจากมหาเศรษฐี 1% ของประเทศ เพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน 99% ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกาลเทศะมากกว่าหาเรื่องปวดหัวรายวันให้ประชาชน
'ก้าวไกล'ชี้แรงงาน 11 ล้านคนและแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้เยียวยา
ด้านสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม รวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ว่า การเรียกร้องของผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามาตั้งเเต่การระบาดของโควิดในรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ไปใช้เงินสะสมในส่วนของประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคม มีระเบียบเเละเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยาหรือเงินกรณีที่เกิดวิกฤติโควิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาในรอบเเรกที่รัฐให้เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ 7,000 บาทนั้น รัฐเยียวยาไปทั้งหมดเพียง 31 ล้านคน แต่ยังมีการตกหล่นเเละได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้เเรงงานในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีมากถึง 11 ล้านคน รวมไปถึงเเรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย
ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค. ) เพื่อให้มีการพิจารณาให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาด้วย และเรื่องนี้จะเข้าสู่การหารือเป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการเเรงงานในวันที่ 27 ม.ค. ในส่วนของปีกเเรงงานของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ได้จัดประชุมเครือข่ายเเรงงานในทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไข รวมถึงจะนำไปใช้เป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือน ก.พ.
บี้ รมว.แรงงาน เยียวยาแรงงานในระบบเท่าเทียม
“ขอฝากไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.เเรงงาน จากการที่เคยหารือไปหลายครั้งให้นำเรื่องมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบให้เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งสุชาติ อ้างว่า การดำเนินการในส่วนของตนเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้เเรงงานอยู่เเล้ว เช่น เรื่องของการลดเงินสมทบประกันสังคมหรือเงื่อนไขการได้รับชดเชยในกรณีว่างงาน เเต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ใช้แรงงานในระบบ 11 ล้านคน จะต้องตกหล่นจากการรับการเยียวยาเหมือนประชาชนคนอื่นๆ เพราะในข้อเท็จจริงยังมีผู้ประกันตนในระบบมีรายได้ลดลงมากแต่ก็ต้องทำเพื่อรักษางานไว้ จึงอยากให้สุชาติ สะท้อนปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นรูปธรรมเเละเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง”
ขณะที่ วรรณวิภา กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรอบเเรกของภาครัฐ ซึ่งการบริหารของรัฐรอบแรกต่อกรณีนี้ทำให้เงินประกันสังคมไหลออกอย่างมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างเเละนายจ้างเพื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน 7 อย่าง ตามประกาศเเละระเบียบของประกันสังคม อาทิ รักษาพยาบาล ชราภาพ คลอดบุตร และว่างงาน แต่ตอนนี้ได้ถูกนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เพื่อเยียวยาแทนรัฐบาล เเละในปัจจุบันผู้ประกันตนในส่วนนี้ลดน้อยลง ทำให้เงินในกองทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของคนที่ใช้เงินจากกองทุนนี้มากขึ้น ซึ่งการบริหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทุนประกันสังคมในอนาคต เมื่อมีการเยียวยารอบ 2 คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการประกาศเยียวยาจากภาครัฐอีก นวันนี้จึงมีที่ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา
“ทำไมรัฐไม่เยียวยา ตกหล่น และเป็นเหตุให้ต้องนำเงินของเขาที่สะสมไว้ในอนาคตมาใช้ ทั้งที่รัฐควรจะต้องเยียวยาอย่างทั่วหน้า เเละให้เงินเยียวยาเป็นเงินสดเหมือนรอบแรก แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ควรจะต้องได้รับการดูแลเหมือนประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงสิทธิต่างๆที่จะได้รับจากรัฐในการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า เเละเท่าเทียม” วรรณวิภา กล่าว