ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนไทม์ไลน์คดีหุ้นไอทีวี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 24 ม.ค.นี้
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือนักธุรกิจ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็น สส. สมัยแรกจากการเลือกตั้งปี 2562 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการอภิปราย ‘ปัญหากระดุม 5 เม็ด’ ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • หลังศาล รธน. มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เขาและสมาชิกพรรคอีก 54 คนได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล ส่วนพิธาก็ได้ก้าวสู่การเป็น ‘หัวหน้าพรรค’ และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในสนามเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
  • 24 เม.ย.2566  นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย (อดีตผู้สมัคร สส.อนาคตใหม่) ชี้เบาะแสว่า มีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง ถือหุ้นบริษัทไอทีวี และเข้าข่ายเป็นการ ‘ถือครองหุ้นสื่อ’ 
  • 26 เม.ย.2566 ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ระบุว่า ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้รับโอนหุ้นไอทีวีจาก นิกม์ แสงศิรินาวิน ได้สอบถามผู้บริหารบริษัทไอทีวีว่า ยังดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดย คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ได้ตอบว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท” 
  • 10 พ.ค. 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร สส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบว่า พิธา มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
  • 14  พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พิธา ชี้แจงว่า โอนหุ้นไอทีวีให้กับญาติไปก่อนหน้านี้แล้ว
  • 6 มิ.ย. พิธา โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีถือหุ้น ITV ว่า ได้จัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV และการโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด
  • 9 มิ.ย.2566 ที่ประชุม กกต. มีมติไม่รับคำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีถือหุ้นไอทีวีของพิธาไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม มาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
  • 11 มิ.ย. ฐปณีย์ เอียดศรีไชย  นักข่าว ‘ข่าว 3 มิติ’ เปิดเผยว่า พบความผิดปกติในรายงานประจำปี 2566 ของบริษัทไอทีวี เนื่องจากเนื้อหาในรายงานไม่ตรงกับข้อมูลบันทึกการประชุมในรูปแบบภาพและเสียง ช่วงที่ภาณุวัฒน์ถามว่า ITV ยังดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดย คิมห์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ได้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” 
  • 12 มิ.ย. 66 คิมห์ สิริทวีชัย ลงนาม หนังสือ ของ INTOUCH ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เนื่องจากเป็นบริษัทย่อย  ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาฯ ก้าวไกลขณะนั้น แถลงข้องใจพิรุธเรื่องข่าวถือหุ้นไอทีวี  ระบุว่า นับแต่ นิกม์ ได้โพสต์ ถึงนักการเมืองที่ถือหุ้นไอทีวี ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า มีการวางแผนให้ ภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นที่รับโอนมาจากนิกม์ และเป็นผู้จัดการคลินิกของครอบครัว และ นิกม์ ก็ยอมรับว่า เป็นคนชงให้ ภาณุวัฒน์ ถามเรื่องไอทีวี  ในที่ประชุม
  • 11-12 ก.ค. 2566 ที่ประชุม กกต.พิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กรณี นายพิธาถือครองหุ้นไอทีวี อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 82 วรรคสี่ หรือไม่ และต่อมาที่ประชุม กกต. มีมติส่งเรื่องต่อให้ ศาล รธน. วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ 
  • 19 ก.ค.2566 ศาล รธน. มีคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งให้พิธา ‘หยุดปฏิบัติหน้าที่’ จนกว่าศาล รธน. จะมีคำวินิจฉัย
  • นับจากวันที่ พิธา ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้วจำนวน 11 ครั้ง เรียกให้บุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐาน จำนวน 12 คน
  • ต่อมา 20 ธ.ค.2566  ศาล รธน. ได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก ประกอบไปด้วย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล และ คิมห์ สิริทวีชัย โดยพยานทั้ง 3 ปาก ได้ตอบข้อซักถามของตุลาการศาล รธน. และของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวนและศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธ ที่ 24 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น. 
  • 21 ม.ค.2567 พรรคก้าวไกล เผยแพร่คลิปความยาว 7.03 นาที เปิดหลักฐานข้อเท็จจริง และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พิธา จะรอดพ้นจากคดีหุ้นสื่อไอทีวี และได้กลับมาเป็น สส. และอาจได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาอีกครั้ง
  • คลิปดังกล่าว ยกหลักฐานที่ชี้ว่าพิธาจะรอดคดี สรุปได้ว่า ไอทีวีไม่ใช่สื่อ ไม่มีคลื่นความถี่ ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ อีกทั้งพิธาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก หรือหากพิธาถือหุ้นจริงก็ถือเพียง 0.00348% ไม่สามารถสั่งการ ครอบงำใดๆ ได้
  • สำหรับคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องจับตาใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ไอทีวียังประกอบการเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ 2. พิธาถือหุ้นไอทีวีที่เป็นสื่อดังกล่าวหรือไม่
  • การขาดคุณสมบัติ สส. ของพิธา จะต้องมีความชัดเจนในทั้งสองส่วน ว่าไอทีวีเป็นสื่อ และพิธาเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ โดยศาลต้องให้เหตุผลในการตีตกประเด็นการเป็นเพียงผู้จัดการมรดกที่พิธาต่อสู้ อีกทั้งยังต้องให้เหตุผลให้ได้ด้วยว่า การถือหุ้น 0.00348% นั้นเป็นการครอบงำสื่อดังกล่าวหรือไม่ ดังที่เคยปรากฏในคดี ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปัตย์ กรณีถือหุ้น  AIS จำนวน 200 หุ้น ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า การถือครองหุ้นดังกล่าวมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะครอบงำสื่อได้  
  • 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. (พรุ่งนี้) ศาล รธน. จะนัดแถลงในประเด็นที่ว่า พิธา ผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งหาก ศาล รธน. เห็นว่ามีความผิดฐานถือครองหุ้นสื่อจริง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สส. 
  • แต่อย่าลืมว่า พิธา ยังมีอีกด่านที่ต้องฟันฝ่า นั่นคือ ความผิดตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนเลือกตั้ง 20 ปี รวมทั้งในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่ได้รับมาระหว่างดำรงตำแหน่งด้วย จากกรณีที่ กกต. มีมติรับพิจารณาตาม มาตรา 151 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566
  • อย่างไรก็ดี หากเราย้อนไปดูคดีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปมถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย 675,000 หุ้น ในครั้งนั้น กกต. ก็ได้หยิบเอา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 มาฟ้องดำเนินคดีกับเขาเช่นกัน แต่ต่อมา พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร โดยให้เหตุผลว่า “พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของนายธนาธรได้” 
  • เป็นไปได้ว่า กรณีของ พิธา ก็อาจพ้นผิดในมาตรา 151 เช่นกัน เนื่องจากการจะเอาผิดในมาตรานี้ จะต้องเป็นความผิดที่มีเจตนาที่ชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงที่ตายตัว รับฟังเป็นยุติ ไม่สามารถดิ้นได้ไม่ว่าโดยวิธีใด และจะต้องมีการพิสูจน์พยานหลักฐาน ตรวจสอบการตัดสินของศาลอาญา คดีอาญาต่างๆ และต้องตีความอย่างเคร่งครัด มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน กล่าวได้ว่า หากจะเอาผิดพิธาด้วย มาตรา 151 ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด