ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัยเผย ข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุช่วงโควิด-19 เกิดขยะพลาสติก ประเภท ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก รวมทั้งพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน ชวนคนไทยลดการใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” โดยในปีนี้ รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งด้านอาหาร และการรักษาสุขอนามัย เกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ขณะเดียวกันได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา จากข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้เกิดปัญหาขยะหลายประเภทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มขยะจากการส่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และลดการสัมผัสเชื้อโรคจากนอกบ้าน ส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นกว่า 60% ขยะจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ประกอบด้วย ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก รวมทั้งพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งในช่วงสถานการณ์ปกติประเทศไทยผลิตขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1,500 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ กรมอนามัยขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการ รณรงค์ร่วมกันลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ปัญหาขยะตกค้างในชุมชนทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงพาหะนำโรค ที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร การเผาขยะกลางแจ้งอาจทำให้เกิดควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นตัน

นอกจากนี้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ เฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ รวมทั้งรณรงค์สื่อสารเรื่องการลดใช้พลาสติก และใช้หลัก 3 Rs คือ  R: Reduce ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น R: Reuse ใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และ R: Recycle แปรรูป มาใช้ใหม่ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ