แต่ยังคงมีหนทางฟ้อง 'ผู้ปฏิบัติการ' ให้ซักทอด 'ผู้สั่งการ' จากหลักฐานผลการไต่สวนพลิกศพที่ชี้ชัดว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ 'ผู้ปฏิบัติการ' จำนวน 14-17 ศพ
พร้อมด้วยพยานหลักฐานจากรายงานจาก "คณะกรรมการค้นหาความจริง" จาก 3 องค์กร ได้แก่ 1) ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) โดยภาควิชาการ
2) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ. ปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
และ 3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ซึ่งมีเพียงฉบับแรกเท่านั้นที่ยืนยันว่า เกิดการปราบโดยรัฐ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ส่วนสองฉบับหลังมีเนื้อหาปกป้อง แก้ต่างให้รัฐบาลอภิสิทธิ์
ทว่ายังมีรายงานการค้นหาความจริงอีกฉบับหนึ่ง จากกลุ่มส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ไม่เคยได้รับการเปิดเผย
โดย 'วอยซ์' ได้สืบค้นและคัดมาเผยแพร่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 'ข้อเท็จจริง' ที่ว่า มีการเจรจาระหว่างส.ว.กับรัฐบาลอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่ม นปช. ซึ่งได้ข้อยุติ ก่อนเกิดสลายการชุมนุมหรือสังหารโหด ประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนี้
ภาพรวม 'รายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา' ที่มี จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษขณะนั้น เป็นประธาน มีจำนวนทั้งหมด 394 หน้า แบ่งออกเป็น 5 บท โดยข้อเท็จจริง 2 ชุด ก่อนการสูญเสียครั้งใหญ่วันที่ 19 พ.ค. 2553 ได้มีการบันทึกไว้ในบทที่ 5 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ 1) บทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา ดังนี้
รายงานได้บันทึกทึกถึงการทำหน้าที่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นและความตายของผู้บริสุทธิ์ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค. 2553 ว่า "วุฒิสภามีมติในการหารือนอกรอบให้ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สิงห์ชัย ทุ่งทอง และนฤมล ศิริวัฒน์ เดินทางไปเจรจารับเงื่อนไขของแกนนำ นปช. ที่แยกราชประสงค์ แล้วนำเงื่อนไขมาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อยุติความขัดแย้งโดยการเจรจา 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของรัฐบาล แกนนำ นปช. และประธานวุฒิสภา ที่จะทำหน้าที่คนกลางในการเจรจา โดยในเบื้องต้น ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้โทรศัพท์ ประสานแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าไม่ขัดข้อง และยังได้ฝากประเด็นให้ผู้แทนที่จะไปเจรจากับแกนนำ นปช. หาคำตอบ 3 ประเด็น" (หน้า 231)
ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2553 ช่วงค่ำ ผู้แทนส.ว. ได้หารือกับแกนนำ นปช.หลังเวทีปราศรัย แยกราชประสงค์ นำ 3 ประเด็นจาก อภิสิทธิ์ ไปหารือ ซึ่งส.ว.ได้มติตรงกันกับนปช.ว่า นปช.พร้อมหยุดยิง และเข้าสู่กระบวนการเจรจา ซึ่งรายงานฉบับส.ว. บันทึกไว้ว่า "เมื่อทราบข่าวดังกล่าว แล้วรู้สึกสบายใจและยินดีที่เหตุการณ์จะยุติลงด้วยดี โดยไม่มีความรุนแรงและสูญเสียเกิดขึ้น" (หน้า 232)
สถานการณ์ดูเหมือนมีความหวังด้วยกระบวนการสันติวิธี ทว่าเหตุการณ์พลิกกลับชนิดหน้ามือเป็นหลังมือในเช้าวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่รัฐบาลมีการประกาศใช้ 'เขตกระสุนจริง' ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก
จนทำให้กลายเป็นการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่า เหตุใดการเจรจาระหว่างนปช.และรัฐบาล โดยมีส.ว.เป็นคนกลางจึงยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นทั้งที่ดูเหมือนได้ข้อยุติร่วมกัน
หลังเหตุการณ์ผ่านไป คณะทำงาน ส.ว. ชุดดังกล่าวได้นำไปสู่การค้นหาความจริงเพื่อจะคลี่คลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น โดยวันที่ 29 ส.ค. 2554 อภิสิทธิ์เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ ว่า
"ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จาก ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. 2553ว่า วุฒิสภาจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับแกนนำ นปช. จึงฝากให้ ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา แจ้งให้คณะผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาไปเจรจาหาคำตอบ จากแกนนำ นปช. รวม 3 ประเด็น พร้อมทั้งแจ้งเงื่อนไขว่า ถ้าจะมีเจรจากัน กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องยุติการใช้อาวุธ และการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ภายในเวลา 18.00–19.00 นาฬิกา ของในวันที่ 18 พ.ค.2553 ซึ่งหากเลยเวลานี้ไปแล้ว ก็จะยุติการเจรจา แต่ปรากฏว่าหลังจากเวลาที่กำหนดไว้ ยังมีการใช้อาวุธโจมตีออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหลังเวลา 20.00 นาฬิกา จึงไม่ได้มีการประสานงานกับประธานวุฒิสภาแต่อย่างใด และการที่รัฐบาลเข้าดำเนินการ “กระชับพื้นที่” ในเช้าวันที่ 19 พ.ค.นั้น เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมนุมยังไม่ยุติการยิงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยามที่จะเจรจากับแกนนำ นปช.หลายครั้ง แต่แกนนำ นปช.กลับใช้วิธีประวิงเวลา และสร้างเงื่อนไขในการเจรจาขึ้นใหม่ตลอดเวลา" (หน้า 232)
ข้อมูลจากอดีตนายกฯ ข้างต้นสวนทางกับ ประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ผู้โทรศัพท์เจรจา ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2554 ว่า "ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. ตนได้ประสานแจ้งให้ อภิสิทธิ์ทราบว่าวุฒิสภาจะส่งคณะผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปพบและเจรจากับแกนนำ นปช. ในช่วงเวลา18.00 - 19.00 นาฬิกา ซึ่งอภิสิทธิ์ ได้ฝากประเด็นคำถาม 3 ข้อ ให้ไปหาคำตอบจากแกนนำและขอให้ฝ่าย นปช.หยุดยิง แต่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขกำหนดเวลาในการยุติการหยุดยิง ซึ่งหลังจากทราบผลการเจรจาแล้ว ในช่วงดึกของคืนวันที่ 18 พ.ค. (จำเวลาไม่ได้) อภิสิทธิ์ ยังได้โทรศัพท์มาสอบถามว่า เหตุใดจึงยังมีการยิงออกมาจากกลุ่ม นปช.อีก และในรุ่งเช้าของวันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 06.00 – 07.00 นาฬิกา (จำเวลาไม่ได้แน่ชัด) อภิสิทธิ์ ได้โทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบว่า ทหารกำลังจะเข้าดำเนินการกระชับพื้นที่แยกราชประสงค์" (หน้า 233)
นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตของคณะกรรการฯ ว่า มีข้อเท็จจริงต่างกัน 2 ประเด็น คือ 1. การกำหนดเงื่อนไขเวลาที่ให้ ฝ่าย นปช.หยุดยิง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันนำไปสู่การตัดสินใจเข้าดำเนินการขอคืนพื้นที่จากฝ่ายผู้ชุมนุมของรัฐบาล และ 2. การประสานงานกันของทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาเข้าพบและเจจากับแกนนำ นปช.จนได้ข้อยุติ ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตุในรายงานฉบับดังกล่าว ในประเด็นที่ส.ว.ได้ข้อยุติในการเจรจากับแกนนำ นปช.ในวันที่ 18 พ.ค. เวลา 20.00 น. หรือก่อนสลายการชุมนุมช่วงรุ่งสางวันที่ 19 พ.ค. ราว 8 ชั่วโมง ว่า
"หากมีการกำหนดเงื่อนไขเวลาในการยุติการยิง ตามที่ อภิสิทธิ์ ได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ แล้ว เหตุใดรัฐบาลจึงต้องกำหนดเงื่อนไขในเรื่องเวลา ถ้าไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว และรอฟังผลการเจรจาระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช. อีกเพียง 2-3 ชั่วโมง และยอมยุติการดำเนินการเข้ากระชับพื้นที่ ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แล้วให้เวลาแกนนำ นปช. ในการส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้นเช่นที่ปรากฏ หรือแม้ว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม แต่ถ้าการยกเว้นเงื่อนไขใด ๆ ที่กำหนดไว้แล้วนั้น จะก่อให้เกิดผลในทางที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะนำมาพิจารณา" (หน้า 233)
รายงานฉบับดังกล่าวยังตั้งข้อสงสัยทิ้งท้ายไว้อย่างแหลมคมในหน้า 244 ว่า
“เกิดอะไรขึ้น”นายกรัฐมนตรีได้รับทราบถึงผลการเจรจาของสมาชิกวุฒิสภากับแกนนำ นปช.หรือไม่ หรือว่าทราบแล้ว แต่ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการตามมาตรการ และแผนปฏิบัติการเดิมที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยมิฟังเสียงจากวุฒิสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทัดทาน เปลี่ยนแปลงมาตรการที่กำหนดไว้แล้วได้ในวันนั้น หากรัฐบาลรับฟัง และยินยอมที่จะยกเว้นเงื่อนไข แล้วปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านแล้ว ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็คงน้อยกว่าที่ปรากฏ"
อย่างน้อยที่สุดรายงานการค้นหาความจริงฉบับส.ว. ได้ช่วยคลี่คลายข้อเท็จจริงไว้ส่วนหนึ่ง จากทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ว.โดยอาศัยความเป็นกลางทางการเมือง ในการใช้หลักสันติวิธีผ่านกระบวนเจรจากับรัฐบาลและแกนนำนปช. เพื่อมุ่งคลายวิกฤติการเมืองในปี 2553
ซึ่งให้ข้อค้นพบว่า เหตุใดข้อยุติร่วมกันระหว่าง นปช.กับรัฐบาลที่มี ส.ว.เป็นคนกลางจึงไม่อาจสร้างสันติภาพได้
แต่กลายเป็นการปราบปรามโดยรัฐไปได้ อีกทั้งยังชี้ชวนให้ค้นหาต่อไปว่า หลังจาก 20.00 นาฬิกา วันที่ 18 พ.ค. 2553 ช่วงรอยต่อราว 6-8 ชั่วโมงนั้น คณะทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการดำเนินการ หรือพบปะหารือกับบุคคลใดที่มีผลต่อการใช้ "กระสุนจริง" ในรุ่งสางวันที่ 19 พ.ค. 2553 อย่างอำมหิตหรือไม่ หรือเป็นแผนปฏิบัติการเดิมที่วางไว้ล่วงหน้าตามที่รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง