ไม่พบผลการค้นหา
เอกอัคราชทูตวิสามัญฯ ชี้บริษัทญี่ปุ่นพร้อมลงทุนเพิ่มหากไทยเข้าร่วม CPTPP ย้ำเคยมีประสบการณ์เรื่อง UPOV1991 และพร้อมให้มูลเพิ่มเติมกับฝ่ายไทย

นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาการเข้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร รองประธานฯ, นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษกฯ, นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมาธิการ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

โดยเอกอัครราชทูตฯ นะชิดะ เชิญชวนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP เพราะเห็นเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนใหญ่ในไทยที่มีถึง 5,500 บริษัทพร้อมขยายการลงทุน และชี้ให้มองที่ค่าเสียโอกาสจากการไม่เข้าร่วม ความตกลงฯ ซึ่งจะคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึงร้อยละ 0.37 ไม่ใช่มองว่าประเทศจะมีจีดีพีเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.12

CPTPP
  • การประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตวิสามัญญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและ คณะกรรมาธิการวิสามัญ

นายนะชิดะ ยังกล่าวเพิ่มว่า สำหรับประเด็นรื่องการผูกขาดพันธุ์พืชจากความตกลง UPOV1991 ตนเองได้เห็นข้อห่วงใยขององค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว แม้จะมองว่าค่อนข้างสุดขั้วและหัวรุนแรง (radical and extreme) พร้อมยกประสบการณ์ว่าที่ญี่ปุ่นก็เคยมีภาคเกษตรที่กังวลเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตรเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามอธิบาย ส.ส.เพื่อทำความเข้าใจจนยอมรับได้ในที่สุด และเสนอว่าทางสถานทูตมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะมาให้ข้อมูล กมธ.โดยเฉพาะที่อนุญาตให้รัฐออกกฎหมายยกเว้นเก็บเมล็ดพันธุ์ได้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ อย่าง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเข้าถึงยารักษาโรคเพิ่มเติมว่า บริษัทการผลิตยาในไทยกับญี่ปุ่นแตกต่างกัน เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาต้นแบบได้ ดังนั้นการประการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) อาจสุ่มเสี่ยงที่จะโดนฟ้อง ไม่ก็ต้องเชื่อมโยงระบบขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตร (patent linkage) ซึ่งจะทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดช้าลง

ทางด้าน นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ หนึ่งในกรรมาธิการ กล่าวต่อทูตญี่ปุ่นว่า เป็นตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs ) ในกมธ. ขอบคุณท่านทูตที่ได้ยินสิ่งที่ภาคประชาสังคมไทยแสดงความกังวลออกไป พร้อมชี้ว่า สิ่งที่ภาคประชาสังคมกำลังทำ แม้ญี่ปุ่นจะมองว่า "ค่อนข้างสุดขั้วและหัวรุนแรง (radical and extreme)" แต่เป็นเพราะไทยเคยเจอประสบการณ์ที่ประเทศเสียผลประโยชน์จากการทำความตกลงและหนึ่งในนั้นคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) กับญี่ปุ่น เอง อย่างไรก็ตาม กมธ.ยินดีที่ทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล UPOV1991