ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็นที่ชวนให้นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี รู้สึกตะหงุดตะหงิดใจ

           หนังสือเรียนรายวิชา ‘พื้นฐานประวัติศาสตร์’ ของระดับชั้นมัธยมศึกษา ชั้นปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2557 หน้า 100-101 มีใจความตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า

           “...หลักฐานที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็คือภาพสลักที่นครวัด เป็นภาพทหารที่เดินสวนสนามผ่านหน้าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ขณะประทับรับการเคารพจากทหาร สันนิษฐานว่าทหารไทยที่มาสวนสนามนั้นน่าจะมาจากเมืองละโว้ และละโว้อาจจะเป็นเมืองที่อยู่ใตอำนาจของเขมร...”

           อ่านผ่านๆ ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนะครับ แต่อันที่จริงแล้ว ข้อความในแบบเรียนพี่พิมพ์โดย ‘สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ’ ที่ผมคัดมาไว้ข้างต้นนี้ มีประเด็นที่ชวนให้นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี รู้สึกตะหงุดตะหงิดใจ อย่างน้อยก็สองประเด็น

           ประเด็นแรกก็คือ ที่ภาพสลักที่ระเบีงคต ปราสาทนครวัด ในประเทศกัมพูชานั้น มีรูปขบวนทหารที่เชื่อกันว่าเป็น ‘คนไทย’ อยู่จริง แต่ไม่ใช่กองทหารจากเมืองละโว้ หรือลพบุรีเสียหน่อย?

           เมืองละโว้ในช่วงที่สมัยขอพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด เมื่อราว พ.ศ.​ 1650 (ตัวเลขกลมๆ จำง่ายๆ) นั้นตกอยู่ในอิทธิพลวัฒนธรรมขอม (ซึ่งก็คือเขมร หรือขแมร์นั่นเอง เพราะขอมไม่ใช่ไทย อย่างที่ลัทธิคลั่งชาติอ้าง) และคงจะใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารเป็นสำคัญ ใครต่อใครเขาจึงไม่นับว่าขบวนทหารจากเมืองละโว้นั้นเป็นคนไทย ที่เขาสันนิษฐานกันว่าคือ ‘ไทย’ นั้นคือขบวนที่มีจารึกกับว่า ‘เนะ สยำกุก’ หรือ ‘นี่ เสียมกุก’ (หรือ เสียมก๊ก) ต่างหาก

           แรกเริ่มเดิมทีนั้น เชื่อกันว่า ‘เสียม’ ในที่นี้หมายถึง ‘สุโขทัย’ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อ และปัจจุบันนี้ก็ไม่มีใครเชื่อกันแล้ว เพราะยุคของนครวัดนั้นสุโขทัยยังไม่เกิด แต่พวก ‘เสียม’ ที่ว่า นี้ก็ยังคงจะหมายถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ‘ไท-ลาว’ อยู่ดี เพราะคำว่า เสียม เป็นต้นตอของคำว่า ‘สยาม’

ปราชญ์ระดับไอคอนของประเทศอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายเอาไว้ว่า ‘เสียม’ หรือ ‘สยาม’ มาจากคำว่า ‘ซำ’ ที่แปลว่า ‘ตาน้ำ’ หรือพื้นที่ที่มีน้ำผุด น้ำซึม เมื่อใช้เรียกชื่อกลุ่มคน จึงหมายถึงพวกที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณที่มีตาน้ำอย่างที่ว่า

           ในพงศาวดารเหนือ (คำว่า ‘เหนือ' ในที่นี้ หมายถึงเมืองฝ่ายเหนือในสมัยอยุธยา-กรุงรัตนโกสินทร์สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 จะผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ) เล่าเรื่อง ‘พระเจ้าสายน้ำผึ้ง’ กษัตริย์ในตำนาน (หมายถึงเป็นพระนามของกษัตริย์ที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร และไม่มีหลักฐานชัดเจน่าเคยมีตัวตนอยู่จริง) พระองค์หนึ่งของอยุธยาว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ เคยเป็นเด็กเลี้ยงวัวแล้วเล่นว่าราชการอยู่เหนือจอมปลวก เหล่าเสนาอำมาตย์มาพบเข้าจึงรู้ว่าเป็นผู้มีบุญ และเชิญให้เด็กเลี้ยงวัวนั้นเสด็จขึ้นครองราชย์ที่อยุธยา เป็นพระเจ้าสายนำ้ผึ้ง

           แต่ทำไมแค่เห็นเด็กเล่นละครเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เหล่าเสนาอำมาตย์จึงพูดกันเป็นตุ เป็นตะ ไปได้ว่า เด็กคนนี้เป็นผู้มีบุญญาธิการกันล่ะครับ?

           นักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กรุณาให้ความรู้กับผมว่า ที่ไหนมีจอมปลวก ที่นั่นมีน้ำซึมอยู่ใต้ดิน เพราะพวกปลวกชอบความชื้น นี่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มคนในสุวรรณภูมิ เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปในสมัยโบราณ เด็กเลี้ยงวัวที่ว่าจึงไม่ได้ว่าราชการโดยปราศจากอำนาจบารมี เพราะทรัพยากรสำคัญคือ แหล่งน้ำใต้ดินถูกทับเอาไว้ใต้บัลลังก์รูปจอมปลวกของเขาอยู่

           ไม่ว่าเรื่องของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จะเป็นเพียงตำนานหรือไม่ก็ดี แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ‘อยุธยา’ กับพวก ‘เสียม’ ซึ่งแปลว่า แหล่งน้ำซึม น้ำซับ ซึ่งก็คงจะเป็นเสียมเดียวกันกับขบวนทัพ ‘เสียมกุก’ ที่ปราสาทนครวัด

และถึงแม้ว่านครวัดจะเรืองอำนาจมาก่อนปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึงราว 250 ปีก็ตาม แต่การที่บันทึกของชาวต่างชาติมักจะเรียก ‘อยุธยา’ ว่า ‘สยาม’ ในขณะที่ไม่เคยเรียก สุโขทัย และลพบุรี ด้วยคำเดียวกันนี้เลย ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้อง และสืบเนื่องกันระหว่าง อยุธยา และชาวเสียม บนภาพสลักของนครวัดได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญก็คือ กองทัพของคนไทย ในภาพสลักทืี่นครวัด ไม่ได้มาจากเมืองละโว้อย่างที่กระทรวงศึกษาฯ ใส่เอาไว้ในแบบเรียนของเด็กนักเรียนชั้น ม. 1 แน่

           ประเด็นที่ 2 ก็คือ อะไรที่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ ฉบับนี้เรียกว่า ‘เดินสวนสนาม’ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่เคยมีงานวิชาการชิ้นไหนระบุเอาไว้เลยสักนิดว่า นี่เป็นการสวนสนาม

           แรกเริ่มเดิมทีที่สุด นักวิชาการฝรั่งเศส เสนอเอาไว้ตั้งแต่ยุคร่วมสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยแล้วว่า ทั้งหมดนี้เป็นภาพสลักขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่จะนำไปรบกับพวกจาม ในประเทศเวียดนาม โดยในขบวนทัพเหล่านี้ มีทัพจากเมืองละโว้ และทัพของพวกเสียม (พวกหลังนี้ถูกอธิบายเพิ่มด้วยว่าเป็นกองหน้า เพราะเป็นทัพที่เดินอยู่แถวหน้าสุด) ที่ถูกเกณฑ์ไพร่พลไปทำสงครามกับเขาด้วย

           แต่ถ้าจะเป็นขบวนทหารที่อยู่ในภาพสลัก ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็ควรจะเป็นเป็นขบวนทัพที่ประสบชัยชนะกลับมานะครับ ถึงจะดูว่าสมพระเกียรติ แต่ผลจากสงครามครั้งนั้นพวกจามเป็นฝ่ายชนะ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่พระองค์ทรงควรจะเอาขบวนทัพที่พ่ายศึกมาสลักเอาไว้ ให้เสื่อมพระเกียรติยศของพระองค์เลย

อีกข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้เกี่ยวกับสงครามในครั้งนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่ารับฟังยิ่งกว่า โดยข้อสันนิษฐานนี้ได้อธิบายเอาไว้ว่า ภาพขบวนทหารจากเมืองต่างๆ ในภาพสลักบนระเบียงคตที่ปราสาทแห่งนี้ คือขบวนเจ้าเมืองเครือญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่มาเข้าร่วมพิธีกวนน้ำอมฤต (คือน้ำที่เชื่อกันว่าดื่มแล้วทำให้เป็นอมตะ ตามปรัมปราคติของพวกพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งก็คงจะกวนไปให้ใครไม่ได้นอกจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เอง)

พิธีดังกล่าวมีชื่อปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ของกรุงศรีอยุธยาว่า ‘ชักนาคดึกดำบรรพ์’

           คำ ‘ดึกดำบรรพ์’ ในที่นี่ไม่ได้แปลว่า เก่าแก่ หรือโบร่ำโบราณ แต่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘ตึ้กตะบัล’ ในภาษาเขมร

           ‘ตึ้ก’ แปลตรงตัวว่า ‘น้ำ’ ส่วน ‘ตะบัล’ แปลว่า ‘ตำ’ รวมความแปลว่า ‘ตำน้ำ’ การชักนาคดึกดำบรรพ์คือการ ‘ชักนาคตำน้ำ’ เป็นการจำลองเรื่องเล่าเทพปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเรื่อง ‘การกวนเกษียรสมุทร’ ที่เทวดา และอสูรมาช่วยกันกวนทะเลน้ำนม (คือเกษียรสมุทร) เพื่อให้ได้ น้ำอมฤต ดังกล่าวนั่นแหละนะครับ โดยภาพการกวนเกษียรสมุทรที่ว่า ก็มีสลักอยู่บนระเบียงคตปราสาทนครวัดด้วย

           คงไม่มีใครสรุปลงไปได้อย่างชัดเจนว่า อันที่จริงแล้ว ภาพขบวนทหารไม่ว่าจะที่มาจากเมืองละโว้ หรือทัพของพวกเสียมนั้น ถูกสลักเอาไว้เพื่ออะไรแน่? เพราะพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็ไม่ได้ทรงได้จารึกบอกเอาไว้ชัดๆ ที่ตรงไหน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ขบวนทหารเหล่านี้ไม่ได้มาเดินสวนสนาม เพราะอุษาคเนย์ในสมัยนั้นทั้งภูมิภาค ยังไม่รู้จักการเดินสวนสนามกันเสียหน่อย?

           ถึงแม้ว่าหลักฐานของการเดินสวนสนาม (march, Military step) จะมีปรากฏในโลกตะวันตกมาแล้วตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. 900 เป็นต้นมา ดังปรากฏในหนังสือชื่อ ‘De re militari’ (แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ว่าด้วยกองทัพ’) ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พิธีกรรมทางการทหารอย่างนี้ก็ไม่เคยแพร่หลายออกไปนอกโลกของพวกยุโรปเลย จนกระทั่งมาถึงยุคที่ลัทธิล่าอาณานิคมเบ่งบาน ซึ่งจะเข้ามาในภูมิภาคเอาก็ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง

           ทั้งทัพจากเมืองละโว้ พวกเสียมกุก (ไม่ว่าเขาจะเป็นไทย หรือไม่ไทยก็ช่าง!) หรือแม้กระทั่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เองก็จึงไม่เคยมีใครเดินสวนสนามกันหรอกนะครับ เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นนักโบราณคดี หรือนักประวัติศาสตร์ ทั้งไทยและเทศ ดังนั้นจึงไม่เคยมีใครอธิบายกันว่า ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เป็นภาพการเดินสวนสนาม จะมีก็แต่แบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ ประเทศเรานี่เอง

           ดังนั้น คำถามที่สำคัญก็คือ ถ้านักวิชาการไม่เคยพูด แล้วคนเขียนแบบเรียน (ในกำกับของกระทรวงศึกษาฯ) ไปเอามาจากไหน? แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า แล้วเราจะปล่อยให้คุณภาพการศึกษาของบ้านเราเป็นอย่างนี้จริงๆ น่ะหรือ?

Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog