ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนรอยมิติความสำคัญของการบอกเวลา จากการทำนายสุริยุปราคาในยุคร.4 การเคารพธงชาติ จนมาถึงนาฬิกาเรือนหรูของพล.อ.ประวิตร

เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 4 ทรง ‘พยากรณ์’ ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงขึ้นที่ ‘หว้ากอ’ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตร พร้อมกับนักวิทยาศาสตร์ และทูตานุฑูตชาวต่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งก็ปรากฏว่า เป็นจริงตามที่ทรงได้พยากรณ์นั้น ก็คงจะทำให้ชาวต่างชาติ และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ทั้งที่ตามเสด็จไป และที่รู้ข่าวในภายหลัง ต่างก็รู้สึกทึ่งกันไปตามระเบียบ กับพระปรีชาสามารถของพระองค์

แน่นอนนะครับว่า สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว การ ‘พยากรณ์’ ของรัชกาลที่ 4 ในครั้งนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพใน ‘การคำนวณ’ ที่ต้องอาศัยความรู้ รวมถึงความเข้าใจอย่างดีเยี่ยมในเชิง ‘คณิตศาสตร์’ และแน่นอนว่าย่อมจะรวมไปถึง วิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง ‘ดาราศาสตร์’ อันเป็นเรื่องของศาสตร์ หรือวิทยาการในโลกสมัยใหม่ทั้งคู่

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิด ที่สังคมในยุคเรา ที่ถือเอา ‘วิทยาศาสตร์’ เป็นหลักในการตัดสินใจ และดำเนินชีวิต (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เชื่อว่าตนเองเป็นอย่างนั้น) จะเห็นซึ้งถึงคุณค่าของการพยากรณ์ในครั้งนั้น ของรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ จนได้นำมาใช้เป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งในการสถาปนาให้พระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’

แต่คำว่า ‘พยากรณ์’ ในภาษาไทยนั้น ใช่ว่าจะถูกใช้งานเฉพาะในแง่ง่ามของวิทยาศาสตร์ อย่างการพยากรณ์สุริยุปราคา หรือการพยากรณ์อากาศ อย่างเดียวเสียเมื่อไหร่? บ่อยครั้งที่คำๆ เดียวกันนี้เอง ยังถูกใช้ในแง่มุมที่เป็นคนละขั้วกับวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องของ ‘โหราศาสตร์’ หรือเลขผานาทีด้วย

และ ‘โหราศาสตร์’ สำหรับสังคมไทยนั้น ก็ย่อมเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องของ ‘ดวงดาว’ (ที่จริงแล้วก็เป็นอยู่ในหลายๆ สังคม) ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการโคจร (ไปทับทั้งโน่น, นี่ และนั่น) หรืออะไรต่อมิอะไรอีกต่างๆ นานา จนใกล้เคียงอยู่กับวิชา ‘ดาราศาสตร์’ อยู่มากทีเดียว (ถ้าไม่เชื่อก็ลองนึกถึงคอลัมน์ดูดวงตามวัน หรือราศีที่เกิด ตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ รวมไปถึงเว็บไซต์ต่างๆ ดูก็ได้นะครับ)

แมักระทั่งรัชกาลที่ 4 เอง พระองค์ก็ยังทรงเคยแสดงให้เห็นถึงความคาบเกี่ยวอะไรทำนองนี้ ในสังคมสยามครั้งกระโน้นให้เราให้เห็น ซึ่่งก็ยังมีเหลือเป็นหลักฐานปัจจุบัน นั่นก็คืออะไรที่เรียกว่า ‘ปักษคณนา’

กล่าวโดยสรุป ‘ปักษคณนา’ ก็คือ การคำนวณดิถีตามปักษ์ที่อ้างกันว่า ตรงตามการโคจรของพระจันทร์อย่างแท้จริง และแม่นยำกว่าปฏิทินหลวง หรือปฏิทินราชการที่เฉลี่ยวันข้างขึ้นให้เต็ม 15 วันอยู่เสมอ เพราะมีวิธีการคิดคำนวณที่สลับซับซ้อนกว่านั้นมาก วันมาฆบูชาแต่ละปีจึงไม่ได้อยู่ต้องตรงกับเดือน 3 เสมออย่างในปฏิทินหลวง

วิธีการคำนวณแบบปักษคณนาที่ว่านี้ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถ และสำหรับอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลฟังธรรม ในสมัยนั้น ผู้ที่มีหน้าที่คำนวณวันมาฆบูชาในแต่ละปี จึงเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดบวรนิเวศ และมีวัดราชประดิษฐ์เป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง

และก็แน่นอนด้วยว่า นี่คือความรู้ของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ที่รัชกาลที่ 4 ทรงนำมาปรับประยุกต์ใช้เข้ากับสังคมที่ยังนับเวลาด้วย ทุ่ม โมง ยาม อย่างสยามในสมัยของพระองค์

เพราะความรู้เรื่อง ‘เวลา’ ของสยามแต่ดั้งเดิม ไม่ได้ละเอียดลออไปจนกระทั่งมีการจำแนกระยะเวลาเป็น นาที หรือวินาที หรอกนะครับ เวลาที่เป็นมาตราอย่างที่สามารถคำนวณและวัดค่าได้ละเอียดถี่ยิบถึงเพียงนั้น เป็นวิทยาการจากโลกตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในสยามอย่างท้วมท้น โดยเฉพาะในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 4 นี่แหละ

เรื่องที่ดูจะเป็นวิทยาศาสตร์ จนไม่น่าจะนับเป็นเรื่องอื่นได้ อย่างมาตราการนับเวลา เมื่อเข้ามาสู่สยามในระยะเริ่มแรก จึงกลับถูกนำมาใช้ในเรื่องทางโหราศาสตร์ อย่างการดูฤกษ์ยามเป็นสำคัญไปมันเสียอย่างนั้นแหละ

ผมจึงไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณเวลาที่จะเกิด ‘กบกินตะวัน’ หรือ ‘ราหูอมพระอาทิตย์’ อย่างที่เรียกกันในโลกสมัยใหม่ว่า ‘สุริยุปราคา’ ได้อย่างเหมาะเหม็ง จนไม่ผิดไปสักวินาทีเดียวนั้น ชาวบ้านร้านตลาดในสยาม จะชื่นชมในพระอัจฉริยภาพทางด้านดาราศาสตร์ หรือพระกฤษดาภินิหาริย์จากการคำนวณเลขผานาทีของพระองค์มากกว่ากัน

เอเชียเฝ้าดูสุริยุปราคา


ในเมื่อพวกเขายังเข้าใจว่า พระอาทิตย์นั้นดับลงชั่วคราวเพราะถูกกบ หรือไม่ก็พระราหูอมเข้าไว้ในปาก ไม่ใช่เกิดขึ้นจากเงาของดวงจันทร์ที่โคจรมาพาดทับดวงอาทิตย์ อย่างที่พวกฝรั่งมันอ้างกันเสียหน่อย?

แม้กระทั่งทุกวันนี้ ที่น่าจะเรียกได้ว่าทุกคนรู้จักกับมาตรวัดเวลาที่ละเอียดไปจนถึงระดับ ‘วินาที’ แล้วก็ตาม แต่สังคมไทยเราก็ยังติดใช้คำเก่าจำพวก ‘ทุ่ม’ ‘โมง’ ‘ยาม’ ผสมกันอยู่จนเป็นปกติในสังคม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่เอาเข้าจริงแล้ว ความคิดเกี่ยวกับเวลาของเราก็ยังสัมพันธ์อยู่กับ ฤกษ์ยาม, เลขผานาที หรือความขลังศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อยู่นั่นเอง และแม้กระทั่ง เรื่องของเวลาที่เป็นระเบียบจากรัฐ ซึ่งเราก็ถูกสั่งให้ต้องปฏิบัติตามกันจนคุ้นชิน อย่างการเคารพธงชาตินี่แหละ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (และนายกรัฐมนตรีในภายหน้า) ได้ออกคำชี้แจงทหารเรื่อง ‘การเคารพธงชาติ’ โดยมีใจความส่วนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า ให้ทหาร (ไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม) หยุดเพื่อเคารพธงชาติเมื่อมีการชักธงขึ้นลง ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่แห่งใดก็ตาม

คำชี้แจงนี้ยังระบุให้บุคคลที่อยู่ในค่ายทหารทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ลูกเมียทหารทั้งปวง) ทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย แต่ขอให้สังเกตว่า ยังไม่มีการระบุลงไปชัดๆ นะครับ ว่าจะชักธงขึ้น และลงกันในเวลาเท่าไหร่แน่?

ต่อมากระทรวงมหาดไทย โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงในขณะนั้น ได้ออก ‘ระเบียบเรื่องการชักธงชาติ’ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยว่าด้วยการชักธง ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม ปีเดียวกัน ซึ่งก็เป็นกฎหมายฉบับนี้เอง ที่กำหนดเวลาชักธงขึ้นลง ตอน 8 โมงเช้า กับ 6 โมงเย็น อย่างที่เราคุ้นเคยกัน

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมต้องเป็น 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น?


ในระเบียบฉบับข้างต้นไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ก็จริง แต่กฎหมายฉบับเดียวกันนี้ ก็ยังย้ำเราอยู่บ่อยๆ ด้วยว่าให้ ‘เคารพ’ ธงชาติ ส่วนที่ให้เคารพธงชาตินั้น เราอาจจะต้องย้อนกลับไปดูในบันทึกอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งก็คือ ‘บันทึกโครงการที่จะทำเรื่องการปลุกใจให้ราษฎรรักชาติ’ ที่หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 อันเป็นปีเดียวกันกับประกาศของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม และระเบียบของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ข้างต้น ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“ธงชาติเป็นเครื่องหมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไรย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว แต่รู้สึกว่าโดยทั่วๆ ไป ยังมีผู้เอาใจใส่น้อย ที่จริงควรจะปลุกเด็กให้เห็น ‘ธงชาติ’ เป็น ‘วัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ขลัง’ ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่บัดนี้ ให้ผู้ที่เคารพธงชาติก็นึกเสมือนว่าเคารพชาติของตน ให้ธงชาติเป็นเครื่องแทนชาติจริงๆ” 

ก็อย่างที่บอกนะครับว่า สำหรับสังคมแบบที่ยังย่ำอยู่กับการนับเวลาที่เป็นโมงยามแล้ว มาตรวัดเวลาแบบที่ละเอียดยิบย่อยไปจนถึงระดับ วินาที หรือเพียงแค่ระดับนาทีก็ตาม อาจจะไม่สำคัญอะไรไปมากกว่า เรื่องของฤกษ์ผานาที และความขลังศักดิ์สิทธิ์

02.jpg


ในสังคมอย่างนี้ความรับผิดชอบต่อเวลา ทั้งต่อตนเองและคนอื่น จึงไม่สำคัญเท่ากับการเข้าแถวเช็คชื่อ เพื่อทำความเคารพสิ่งที่ขลังศักดิ์สิทธิ์ ตามฤกษ์ผานาทีที่อำนาจได้กำหนดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล

และก็เป็นในสังคมอย่างนี้นี่แหละครับ ที่นาฬิกาบนข้อมือของทหารชั้นนายพล ระดับบิ๊กของประเทศ จะเป็นของแท้ราคา 3 ล้าน หรือเป็นของปลอมทำเหมือนจากเสิ่นเจิ้นราคาไม่ถึง 300 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงที่มาให้ใครทราบ ตราบใดที่นาฬิกาเรือนนั้น ยังทำหน้าที่บอกว่าให้เขาเข้าแถวทำความเคารพสิ่งที่ขลังศักดิ์สิทธิ์ ตามฤกษ์ยามที่ถูกต้องนั่นเอง

Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog