ไม่พบผลการค้นหา
'นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว' สะท้อนสังคม-การเมืองไทย อ้างอิงกรณี 'ทายาทเครือกระทิงแดง' ลอยนวลจากคดีขับรถชนคนตายได้นานหลายปี สะท้อนภาพผู้มีฐานะร่ำรวยได้รับการปฏิบัติอย่างพิเศษแตกต่างจากประชาชนทั่วไป

รายงาน Red Bull boycott: From Thai pride to symbol of inequality ของนิกเคอิฯ ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2563 โดยมีเนื้อหาพาดพิงกรณี 'วรยุทธ อยู่วิทยา' หรือ 'บอส' ทายาทธุรกิจเครือกระทิงแดง ขับรถชนคนเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ย.2555 แต่ยังลอยนวลได้นานหลายปีจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่กระแสคว่ำบาตรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

นิกเคอิฯ ระบุว่า วรยุทธเป็นทายาทรุ่นหลานคนหนึ่งของ 'เฉลียว อยู่วิทยา' ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง 'กระทิงแดง' ซึ่งภายหลังเฉลียวได้ร่วมกับ 'ดีทริช มัตเทอชิตซ์' นักธุรกิจชาวออสเตรีย ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH ขึ้นมาเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง 'เรดบูล' ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เครื่องดื่ม 'เรดบูล' ถูกปรับลดความหวานจากสูตรเครื่องดื่มกระทิงแดงแต่เดิม เพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมไปทั่วโลก ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่ 'เฉลียว' แห่งตระกูล 'อยู่วิทยา' จะล่วงลับไป ส่วน 'เฉลิม' บุตรชายของ 'เฉลียว' ผู้เป็นบิดาของ 'บอส วรยุทธ' ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บสว่าเป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของ 'กระทิงแดง' เปลี่ยนจากการเป็นหน้าเป็นตาของไทยไปสู่การเป็นภาพสะท้อน 'ความเหลื่อมล้ำ' ของคนในสังคม หลังเกิดกรณี 'บอส วรยุทธ' ขับรถชนคนเสียชีวิต และช่วงแรกมีความพยายามกลบเกลื่อนว่าวรยุทธไม่ใช่ผู้ขับรถคันดังกล่าว ก่อนจะมีการเปิดเผยข้อมูลในภายหลังว่าวรยุทธเป็นผู้ขับรถชนคนเสียชีวิตจริงๆ

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า วรยุทธได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และไม่ได้ไปตามนัดหมายไต่สวนของศาล ก่อนจะเดินทางออกนอกประเทศด้วย 'เครื่องบินส่วนตัว' กว่าจะรู้ว่าวรยุทธไม่อยู่ในไทย ก็เมื่อมีรายงานว่าเขาใช้ชีวิตอย่างหรูหราในต่างแดน รวมถึงการไปชมการแข่งรถฟอร์มูลาวันที่ 'เรดบูล' เป็นเจ้าภาพ

บอส อยู่วิทยา กระทิงแดง

นอกจากนี้ ความไม่พอใจของคนในสังคมปะทุขึ้นมาอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2563 หลังมีข่าวว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาต่างๆ ที่มีต่อวรยุทธ นำไปสู่คำวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ของไทยเลือกปฏิบัติ โดยมักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับผู้มีฐานะร่ำรวย ทำให้คนในสังคมไม่พอใจอย่างหนัก และออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติกับคดีของวรยุทธให้เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อประชาชนทั่วไป

กระแสต่อต้านกระทิงแดงในไทยแพร่ไปยังประชาชนหลายกลุ่ม รวมถึงผู้ชุมนุมที่ออกมารวมตัวต่อต้านรัฐบาล มีการนำสัญลักษณ์กระทิงแดงไปใช้ในการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม และความโกรธเคืองของประชาชนทำให้รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันต้องปรับตัว นำไปสู่การออกหมายจับวรยุทธโดยอ้างอิงหลักฐานเพิ่มเติมในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะสามารถนำตัววรยุทธมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้หรือไม่

รายงานของนิกเคอิฯ ระบุด้วยว่า กลุ่มคนรวยในไทยคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด แต่เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินรวมกว่า 50% ของทั้งประเทศ ถือเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน และกรณีของวรยุทธก็สะท้อนว่าสังคมไทยมีการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2563 เช่นกัน ลงนามโดย วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอให้รัฐบาลเปิดเผยรายงานการสอบสวนคดีบอส อยู่วิทยา และเร่งเอาตัวคนผิดมาลงโทษ โดยระบุว่า หากประวิงเวลาจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของระบบยุติธรรมและของรัฐบาลยิ่งเสื่อมถอยไปอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: