ไม่พบผลการค้นหา
‘วิปรัฐบาล’ เล็งชงนัดประชุมถกงบ วาระ 2 เพิ่มวันพุธที่ 24 ส.ค. หวั่นนัดวันเสาร์องค์ประชุมไม่ครบ เชื่อพิจารณาทันตามกรอบเวลา ไม่เชื่อนายกฯ ชิงยุบสภาก่อน

วันที่ 19 ส.ค. 2565 สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมการประสานงานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการนัดหารือร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านถึงกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วาระสอง ที่มีข้อเสนอให้เพิ่มวันประชุม 

โดยระบุว่า ตามกรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2566 ที่กำหนดให้สภาฯ พิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 29 ส.ค. ดังนั้นหากจะเพิ่มวันพิจารณาในสัปดาห์หน้าสามารถทำได้ เพราะไม่เกินกรอบเวลา อย่างไรก็ดีกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มวันประชุม คือ วันที่ 22 ส.ค. นั้น ตนมองว่าอาจมีข้อขัดข้อง หากเพิ่มวันที่ 24 ส.ค. จะเหมาะสม เพราะเป็นวันประชุมของสภาฯ ส่วนการประชุมสภาฯ สามารถเลื่อนเป็นวันที่ 25 -26 ส.ค. นี้ได้

“เบื้องต้นเชื่อว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในมาตราท้ายๆ จะทำได้รวดเร็ว ทั้งนี้วิปต้องการให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จตามกรอบเวลา ซึ่งหากทำแบบนั้นอาจต้องใช้เวลาอภิปราย ถึง ตี 3 หรือ ตี 4 ซึ่งไม่แน่ใจว่าส.ส.จะไหวหรือไม่ และหากต่อประชุมวันเสาร์ที่ 20 ส.ค. อาจมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมได้” สุรสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลมีข้อกังวลต่อกรณีที่สภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่เสร็จ แต่เกิดเหตุยุบสภา ซึ่งเกี่ยวกับวาระ 8 ปีนายกฯ หรือไม่ สุรสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมองว่าวาระ 8 ปี ไม่น่าเกี่ยว ส่วนการยุบสภานั้นเชื่อว่าไม่เกิดขึ้น และไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภาทั้งนี้หากมีเหตุการณ์ที่อายุของสภาฯต้องสิ้นสุด แต่ร่าง พ.ร.บ.งบ เสร็จไม่ทันตามกรอบ 105 วัน ไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณของปีก่อนไปพรางก่อนได้ 

“เรื่องนี้คงไม่นำมาต่อรองกัน และคิดว่ารัฐบาลไม่เสียเปรียบ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดรายละเอียดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาลอาจเกิดประโยชน์เพราะงบที่นำมาใช้ไปพลางก่อนนั้น ไม่ผ่านการตรวจสอบของฝ่ายค้าน” สุรสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า หากเพิ่มวันประชุมจะไม่เป็นปัญหาต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญของรัฐบาลใช่หรือไม่ สุรสิทธิ์ กล่าวว่า หากผู้ใหญ่เห็นว่าควรเร่ง สามารถเรียกประชุมได้ในวันเสาร์ ที่ 20 ส.ค. นี้ แต่ส่วนตัวยังมองว่าประเด็นวาระนายกฯ 8 ปีนี้ มีประเด็นเพียงแค่จะอยู่วาระอีกกี่ปี ระหว่าง 2 ปี หรือ 4 ปี ดังนั้นดูข้อกฎหมายแล้วยังเชื่อว่ามีเวลาเพียงพอให้พิจารณา