ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่าน 1984 หนังสือแห่งความหดหู่ที่คุณหลอกชาวโลกว่าอ่านแล้ว แต่เอาเข้าจริง คุณก็ยังไม่ได้แตะด้วยซ้ำ

ขอสารภาพบาปก่อนเลยดีกว่า ในฐานะคนที่ไม่ได้เติบโตมากับการอ่านวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลกอะไรมากมาย มาจับ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ครั้งแรกก็ในวัย 23 ปีเข้าไปแล้ว และดูเหมือนว่านี่จะเป็นวรรณกรรมแห่งความโลกไม่สวย (ดิสโทเปีย) เล่มแรกเลยที่ได้เสพอย่างจริงจัง

เราเป็นคนกลัวความหดหู่มากเพราะมันชอบอยู่กับเรานานเกินพอดีและความสามารถในการจัดการอารมณ์ตัวเองของเราก็ไม่ดีเอาเสียเลย พูดตรงๆ แต่ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว จะทิ้งมันไว้เฉยๆ ก็ดูจะเป็นคนเขลาและเพิกเฉยต่อความยิ่งใหญ่ที่มาจ่ออยู่ตรงหน้าเกินไป

ว่าก็ว่าเถอะ ถึง 1984 จะมีฉากหลังอยู่ในประเทศสมมติ แต่นี่มันเหมือนเอาชีวิตประเทศไทยมาเล่ามากกว่าอีก

'วินสตัน สมิธ’ ตัวเอกของเรื่องตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ต้องเชื่อผู้นำซึ่งหนังสือเรียกเขาว่า 'พี่เบิ้ม’ เท่านั้น โดยตัวชูโรงของระบอบพี่เบิ้มคือสิ่งที่เรียกว่า 'ความคิดสองชั้น' นั่นคือการที่คุณต้องก้าวข้ามจิตสำนึกไปยังสิ่งที่รัฐต้องการให้คุณสำนึกมากกว่า

ถ้า 2+2 = 4 คือสิ่งที่ทางการต้องการให้คุณเชื่อ 2+2 ก็จะเท่ากับ 4 แต่ถ้าเขานึกจะบอกว่า 1+1 = 3 และคุณดันไปเถียงว่า จะบ้าหรือไง 1+1 ก็ต้องเท่ากับ 2 สิ อันนี้เรียกว่า 'อาชญากรรมทางความคิด’ คุณเป็นอาชญากรเพราะไม่รู้จักคิดสองชั้น คุณต้องคิดให้ได้ว่า 1+1 = 2 เป็นมโนคติของคุณที่คุณคิดขึ้นมาเอง ซึ่งมันผิด เพราะสิ่งที่ถูกต้องคือ 1+1 = 3 ตามที่พี่เบิ้มบอกไงเล่า เข้าใจไหม!

กลับมาที่ วินสตัน ตัวเอกของเรามีพื้นเพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คิดว่าเรียกแบบนี้ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะนายวินสตันก็ทำงานให้กับพี่เบิ้ม และดูเหมือนเชื่อฟังระบอบนี้อย่างดีเยี่ยม จะมีปัญหาก็ตรงที่ว่า ขณะที่คนอื่นๆ ถูกพี่เบิ้มจูงจมูกอย่างไร้สามัญสำนึกหรือก้าวข้ามสามัญสำนึกไปได้แล้ว วินสตันของเราดูจะยังมีสามัญสำนึกมากเกินไปหน่อย และสิ่งนั้นก็เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งในอีก 400 หน้าต่อมาของเรื่อง

ความตลกร้ายของหนังสือเล่มนี้ คือมันช่างเป็น 'ดิสโทเปีย’ ที่เต็มไปด้วยความหวังเสียจริง ให้ตายเถอะ นายวินสตันที่แสร้งทำเป็นเทิดทูนพี่เบิ้มก็แอบไปสมคบคิดกับกลุ่มกบฏอย่างเงียบเชียบ ท่ามกลางการสบตาเพียงเล็กน้อย การพยักหน้ากันนิดหน่อย แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้จิตวิญญาณของผู้มีสามัญสำนึกติดไฟพร้อมจะทำลายไอ้พวกพี่เบิ้มให้พินาศลง แม้จะต้องเอาชีวิตตัวเองเข้ามาเสี่ยงก็ตาม ไอ้ชีวิตอันไร้สามัญสำนึกแบบปกติชนมันจะไปเรียกว่าชีวิตได้ยังไงล่ะ จริงไหม

อ่านยัง

ทีนี้ก็กลับมาที่การจั่วหัวของเราว่า ไม่รู้ จอร์จ ออร์เวลล์ เขียน 1984 หรือเขียนถึงประเทศไทยกันแน่ การที่พวกคุณจะเข้าใจคำกล่าวอ้างของเรา เราก็จำเป็นต้องขอหยุดพูดถึงนายวินสตันไว้ก่อนสักนิด แต่เราต้องมาพูดถึงเศรษฐกิจกันหน่อยกันนิดนึง เอาหน่ะ เชื่อเราเถอะ คุณทำได้ คุณเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนิยายการเมืองได้แน่นอน

คือในระบบเศรษฐกิจมีสิ่งที่เรียกว่า 'เงินเฟ้อ’ กับ ‘เงินฝืด’ อยู่ และเนื่องจากเราไม่มีเนื้อที่อธิบายเรื่องเหล่านี้ยาวมากนัก เราจะขอรวบรัดตัดตอนให้อยู่ภายในไม่กี่ย่อหน้าแล้วกันนะ คือในภาวะเงินเฟ้อ แปลว่าเงินในระบบเศรษฐกิจมันเยอะ ราคาสินค้าและบริการก็แพง ถึงประชาชนจะมีเงินในมือเยอะ แต่มูลค่าของเงินกลับลดลง ในช่วงเวลาแบบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะมีหลายมาตรการออกมากำกับไม่ให้เงินเฟ้อมากเกินไป และหนึ่งในนั้นคือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ พอดอกเบี้ยแพงคนก็จะชะลอการใช้เงิน เงินในระบบก็จะลดลง ไปจนถึงระดับที่พอดี

ในทางตรงกันข้าม ภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าตอนนี้ไทยก็เกือบจะเงินฝืดอย่างเป็นทางการแล้วแหละ คือสภาวะที่คนไม่ใช้เงินเพราะกังวลว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่ใช้เงินราคาสินค้าและบริการก็ถูกลงเพราะลูกค้าไม่มาซื้อของ ผู้ประกอบการก็กำไรน้อย มันก็กระทบกันไปทั้งระบบ ในภาวะแบบนี้ ธปท. ที่อยากให้มีเงินในระบบมากขึ้น ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการไปกู้เงินมาลงทุน มีการจ้างงาน เศรษฐกิจคึกคักคึกคื้นขึ้น

ปัญหามันอยู่ที่ว่า อย่างที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เอียงไปทางเงินฝืดมากกว่า แต่ราคาสินค้าบางอย่างมันกลับสูงเกิน เท่านั้นยังไม่พอ การลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ก็ไม่ได้จูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนอยู่ดี หรือพูดง่ายๆ ว่าไทยกำลังอยู่ในวิกฤตซ้อนวิกฤตนั่นเอง ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวตอนนี้ คือเงินก็ฝืด แต่ราคาสินค้ากลับแพง เศรษฐกิจก็กระตุ้นไม่ขึ้น และเอิ่ม...มี PM 2.5 มาสูดให้ชื่นใจด้วย ไหนจะยังไวรัสโคโรนาระบาดอีก

จนล่าสุดเมื่อวันก่อนทวิตภพของเรามี #รัฐบาลเฮงซวย ออกมากันอย่างร้อนแรง แต่รัฐบาลก็ยังบอกว่าทุกอย่างดีอยู่ไง บ้างก็มีข่าวออกมาว่าเศรษฐกิจไทยดี บ้างก็มีข่าวออกมาว่าฝุ่นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันจะมาว่ารัฐบาลได้ยังไง ยังไม่รวมว่าฝุ่นพิษของไทยนี่ทำร้ายได้แค่คนอ่อนแอ เด็ก คนแก่นะ ส่วนคนอื่นต้องทนได้ เพราะนายกฯ ยังทนได้เลย ถ้าทนไม่ได้ก็ไปใส่หน้ากากเอาเอง ยังไม่รวม รมว. สาธารณสุขที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนาก็เหมือนไข้หวัดนั่นแหละ อย่าตกใจ กินยาหาย

แน่นอนว่าประเทศไทยก็มีผู้มีความคิดสองชั้นและก้าวข้ามสามัญสำนึกไปแล้ว เห็นไหมบอกแล้วว่ามันเชื่อมโยงกัน ให้ตายสิ!!!

1984 คงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในนวนิยายประเภทดิสโทเปียถ้ามันจบแบบมีความสุขใช่ไหมล่ะ เราก็รู้ว่ามันจะไม่แฮปปีนักหรอก แต่เล่นให้ความหวังมาตลอดทาง แล้วมาทิ้งกันได้ลงคอเนี่ยนะ จริงๆ คนเขียนก็ไม่ได้ให้ความหวังหรอก เราหวังของเราไปเอง แต่แล้วตอนจบ เราก็สิ้นหวัง หดหู่ ในระดับที่ โจ๊กเกอร์ กลายเป็นหนังใสๆ ไปเลย

ช่วงท้ายของบทที่หนึ่ง วินสตัน เขียนในสมุดบันทึกของตัวเองว่า 'พี่เบิ้มจงพินาศ’ และแม้จะเป็นตัวละครเพียงน้อยนิดที่ยังพอมีสามัญสำนึกรู้ซึ้งถึงความเสื่อมทรามของพี่เบิ้มและสู้มาจนถึง (เกือบที่สุด) แต่สุดท้ายหลังต้องเผชิญหน้ากับความกลัวและความสิ้นหวังของระบบพี่เบิ้มที่เข้มแข็งเกินไป และการค้นพบความจริงบางอย่างว่าตลอดมานั้น ... (อยากให้ไปอ่านเอง) ประโยคสุดท้ายของหนังสือจึงจบที่ว่า 'เขารักพี่เบิ้ม’

เราไม่เคยหมดหวังกับวินสตันเลย ไม่เลยสักนิดเดียว ที่จริงเราหวังมาตลอดว่าเขาต้องยืนหยัดอยู่ได้ แม้หนังสือจะบีบบังคับให้เขาเผชิญหน้ากับความล้มเหลวแค่ไหน แม้จะต้องอยู่ภายใต้ระบบเฮงซวย แม้จะไม่มีกบฏอะไรก็แล้วแต่มาโค่นล้มรัฐอีกต่อไปแล้ว แต่ขออย่างเดียว ขอแค่ยังเหลือสามัญสำนึกเอาไว้ ขอให้วินสตันไม่หลงลืมตัวตนของตัวเองไม่ให้โดนระบบกลืนกิน แม้จะเอาชีวิตไปแล้วขออย่าได้เอาจิตวิญญาณไปเลย แต่ จอร์จ ออร์เวลล์ ไม่ได้ใจดีกับเราขนาดนั้น ความจริงเขาก็แค่เป็นนักเขียนที่ทำตามแผนที่วางไว้ ก็วางไว้เป็นดิสโทเปียมันก็ต้องจบดำมืด มอดไหม้นั่นแหละนะ

จังหวะที่เราอ่านตอนสุดท้ายแล้วเราหมดหวังกับวินสตัน มันให้บังเอิญว่าเราก็เหมือนจะหมดหวังกับประเทศไทยไปด้วยแล้วน่ะสิ

เหล่าหญิงชายทั้งหลายที่ได้อ่านรีวิวนี้ โปรดมาเสพความสิ้นหวังไปด้วยกันเถอะ