ไม่พบผลการค้นหา
แฟนนางงามและกูรูนางงามต่างก็ลือกันว่า การได้ครองมงกุฎมิสยูนิเวิร์สของสหรัฐอเมริกาในปีนี้ เปรียบเสมือนการทิ้งทวนก่อนที่ลิขสิทธิ์การประกวดทั้งหมดจะอยู่ในมือ ‘แอน-จักรพงษ์’ แบบ 100%

ชื่อของ ‘อาร์บอนนีย์ เกเบรียล’ ถูกสลักไว้อย่างเป็นทางการว่าเธอคือนางงามจักรวาลคนที่ 9 ของสหรัฐฯ ภายหลัง ‘โอลิเวีย คัลโป’ เคยคว้าชัยไปในปี 2012 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ถือครอง ‘ความงามแบบจักรวาล’ ไว้มากที่สุดด้วยจำนวน 9 ครั้งจาก 71 รอบการประกวด 

ขณะที่ประเทศเจ้ามหาอำนาจแห่งความงามในภูมิภาคเอเชียอย่าง ‘ฟิลิปปินส์’ กลับตกรอบแรกในรอบ 12 ปี ส่วน ‘ไทยแลนด์’ ที่มุ่งมั่นคว้ามง 3 ก็ต้องเดินจูงมือกับเพื่อนรักเพื่อนร้ายอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนามเข้าไปนั่งรอหลังเวที ทำเอาพี่กะเทยทั่วประเทศนั่งน้ำตาตกในกันถ้วนหน้า 

‘วอยซ์’ ชวนผู้อ่านร่วมสำรวจความงามกว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมาบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ชุดคุณค่าความงามในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป อาจเป็นเพราะปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลประโยชน์ทางการเมือง ป๊อปคัลเจอร์ ที่เข้ามามีบทบาทในการคุมเกม ‘โอลิมปิกแห่งความงาม’ นี้ 


ยุทธวิธีทางการทหาร และยุทธการณ์พิชิตมง 

คงต้องเท้าความสักนิดว่าเวทีมิสยูนิเวิร์สประกวดอย่างเป็นทางการในปี 1952 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสู่สงครามเย็น สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ถือครองลิขสิทธิ์ และหัวเรือใหญ่แห่งประเทศในโลกเสรีนิยมก็ได้เชิญประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมประกวด 

ในช่วงทศวรรษ 1960-1980 ถือเป็นเวลาเข้มข้นของปฏิบัติการต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ มิสยูนิเวิร์สได้กลายเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทางการเมืองอย่างเต็มขั้น เพราะการที่ประเทศใดสักประเทศจะคว้าชัยชนะได้มักจะแลกมาด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองต่อประเทศนั้นๆ เสมอ 

เป็นที่ลือกันว่า ในปี 1965 คราวที่ ‘อาภัสรา หงสกุล’ นางสาวไทยที่ครองมงกุฎเป็นคนแรกประเทศไทย นั่นเป็นเพราะกองทัพสหรัฐฯ ต้องการใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นศูนย์กลางฐานลำเลียงอาวุธไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน 

สอดคล้องกับข้อมูลที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อธิบายไว้ทางมติชนออนไลน์ว่า ในปี 2508 รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ลงมติอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาเพื่อใช้งานด้านสงคราม ซึ่งก็เป็นปีเดียวกันที่ประเทศไทยได้เชยชมหญิงสวยที่สุดในจักรวาล

หรือจะเป็นกรณีที่ ‘มาร์ลีน ชมิตท์’ สาวงามจากประเทศเยอรมนีที่ครองมงกุฎในปี 1961 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับวิกฤตการณ์เบอร์ลิน (Berlin Crisis 1961) อันเนื่องมาจากการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่กรุงเบอร์ลินไม่ลงรอยกันระหว่างกองกำลัง NATO นำโดย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ กับกองกำลัง Warsaw Pact นำโดย สหภาพโซเวียต จนนำมาสู่การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน แบ่งเยอรมันออกเป็น 2 ส่วน ทำให้มิสยูนิเวิร์สในขณะนั้นถูกมองเป็นของกำนัลที่สหรัฐฯ มอบให้ชาวเยอรมันในช่วงที่อดอยากจากวิกฤต 

https://m.media-amazon.com/images/M/MV5BZDIxMWNhMzktZTZjZi00MjhmLWE5MTktOTkwOTU2M2FjMmQ2XkEyXkFqcGdeQXVyMTY4MzExNjA@._V1_.jpg

อีกทั้งธรรมเนียมในการประกวดยุคนั้นจะพบว่า มักจะมี ‘ปฏิญญานางงามจักรวาล’ ที่นางงามจักรวาลปีก่อนหน้ามักจะกล่าวหลังจากมอบมงกุฎให้รุ่นน้องเสร็จ ใจความว่า 

“We are representing the countries in the Miss Universe Pageant, in order to further the cause of international peace, justice and mutual understanding do solemnly dedicate ourselves to the highest ideals of sportsmanship, friendship and goodwill” 

ซึ่งแปลว่า พวกเราตัวแทนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ด้วยความประสงค์ที่จะเผยแพร่ความมุ่งหวังแห่งสันติภาพระหว่างประเทศ ความยุติธรรม และความเข้าใจร่วมกัน โดยขออุทิศตนอย่างแข็งขันเพื่ออุดมการณ์น้ำใจนักกีฬา มิตรภาพ และความประสงค์ดีต่อกัน 

โดยปฏิญญาบทนี้ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในการประกวดปี 1960 และถูกใช้งานเป็นครั้งสุดท้ายในการประกวดปี 1991 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดลง และในปีนั้นสาวงามสหภาพโซเวียตก็คว้ารองอันดับ 2 ไปฉลองการล่มสลายอย่างเต็มภาคภูมิ 


‘ครองมง’ ในวันที่สหรัฐฯ ‘ครองเมือง’ 

นับตั้งแต่เริ่มการประกวดเรื่อยมาจนถึงในปลายทศวรรษ 1990 ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของระเบียบโลกใหม่ที่มีสหรัฐฯ เป็นเจ้าโลก ประกอบกับแนวคิดทุนนิยมที่บานสะพรั่ง จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพของนักธุรกิจอย่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เข้ามาช้อนซื้อกิจการมิสยูนิเวิร์ส และก่อตั้งบริษัท MISS UNIVERSE INC. ในปี 1996 เพื่อหวังฟันกำไร 

นั่นก็เป็นดั่งความสำเร็จของทรัมป์ เพราะในช่วงของการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำนักข่าวบีบีซี ระบุ ตามรายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหรัฐฯ เปิดเผยถึงตัวเลขของเม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในบริษัทมิสยูนิเวิร์สในช่วงที่ทรัมป์เป็นเจ้าของถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 750 ล้านบาท  

ขณะเดียวกันด้วยความเป็นนักธุรกิจ ทรัมป์ ได้เข้ามารื้อโครงสร้างทั้งหมดภายในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ประกอบกับในช่วงต้นของปี 2000 มีการถือกำเนิดของแฟชั่นโชว์ระดับตำนานอย่าง ‘วิคตอเรีย ซีเคร็ต’ ที่ผลิตนางฟ้า (นางแบบชุดชั้นใน) ออกมาประดับวงการบันเทิง พร้อมทั้งมีศิลปินชื่อดังไปร่วมโชว์อยู่เป็นประจำ มิสยูนิเวิร์สจึงต้องทำรูปแบบการประกวด และเฟ้นหานางงามออกมาในรูปแบบของเซเลบริตี้เพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อให้ได้ 

นั่นจึงทำให้สาวอเมริกัน และลาตินอเมริกันก็พาเหรดกันเข้ารอบกันเป็นว่าเล่น จากการสังเกตการณ์ในช่วงเวลาที่ ทรัมป์ ถือครองลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 1997-2014 พบว่า ประเทศที่ครองมงกุฎส่วนใหญ่ล้วนเป็นนางงามจากแถบอเมริกาและลาตินอเมริกา จำนวนทั้งสิ้น 13 คน 

https://media.vanityfair.com/photos/56966cc09da0b28a1ac9c2f4/master/w_1600%2Cc_limit/donald-trump-beauty-pageant-03.jpg

นอกจากนี้ สิ่งที่่สร้างคำครหามากที่สุดคงจะเป็น ‘ทรัมป์ชอยส์’ หากนางงามประเทศไหนโดนตาโดนใจทรัมป์ก็เตรียมเดินเข้ารอบไปอย่างง่ายดาย สาเหตุมันเริ่มมาจากปี 2004 ‘โอเล็กซานดรา นิโคลา เยนโค’ สาวงามจากประเทศยูเครนที่ทรัมป์ชื่นชอบเป็นพิเศษกลับตกรอบแรกอย่างน่าเสียดาย ในท้ายที่สุด การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005 ทรัมป์จึงได้ให้เธอมาเป็นกรรมการในรอบตัดสินเสียเลย 

“เพราะชุดว่ายน้ำของผู้หญิงที่เล็กลง รองเท้าส้นสูงที่สูงขึ้น เรตติ้งจึงพุ่งสูงขึ้น” 

จากการให้สัมภาษณ์ของ ทรัมป์ ต่อสื่อสหรัฐฯ ในช่วงปี 2011 สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความงามทางกายภาพ เมื่อทัศนคติของผู้บริหารองค์กรชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงทางเพศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจึงไม่แปลกนักที่มิสยูนิเวิร์สจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบมาโดยตลอดในเรื่องของการสร้างมาตรฐาน และผลักไสกีดกันความงามรูปแบบอื่นออกไป ตลอดจนการลดทอนคุณค่าความเป็นเพศหญิงให้เหลือเพียงวัตถุทางกามรมย์เท่านั้น 


ความหลากหลายของ ‘เงินทุน’ และความงาม

วันเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการประกวด ความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิทางเพศสภาพก็เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับกระแสความนิยมในการประกวดมิสยูนิเวิร์สก็ลดลง 

ภายหลังทรัมป์ได้เข้าสู่แวดวงการเมืองเต็มตัว บริษัท WME-IMG ได้เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ พร้อมมุ่งมั่นที่กู้หน้าภาพลบของมิสยูนิเวิร์สด้วยการโอบรับทุกความหลากหลายภายใต้คอนเซปต์ ‘Confidently Beautiful’ ด้วยความพยายามจะถ่ายทอดความงามบนพื้นฐานของความหลากหลายตามชาติพันธุ์ของผู้หญิงที่พร้อมจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นๆ ด้วยการลดสัดส่วนคะแนนทางกายภาพ แล้วไปเพิ่มในการสัมภาษณ์ รวมถึงคณะกรรมการที่มักจะเป็นผู้หญฺิงทั้งหมด 

เหมือนหนีเสือปะจระเข้อย่างไรอย่างนั้น แม้การประกวดในยุคหลังมาจะไม่ถูกครหาในเรื่องภาพลักษณ์ของผู้หญิง แต่สังคมกลับตั้งแง่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีผลทำให้นางงามแต่ละประเทศเข้ารอบ 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อการเข้ารอบของนางงามลาตินอเมริกา คือการก้าวเข้ามาของสถานีโทรทัศน์ Telemundo ช่องทีวีภาษาสเปนที่ได้รับความนิยมมากในแถบประเทศลาตินอเมริกาเข้ามาร่วมหุ้นถ่ายทอดสด ทำให้นางงามในกลุ่มประเทศดังกล่าวเริ่มกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนความงามมากขึ้น หลังห่างหายจากสังเวียนไประยะหนึ่ง 

เห็นได้ชัดจากการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่ช่องเทเลมุนโดเข้ามาร่วมหุ้น ส่งผลให้นางงามจากลาตินอเมริกายืน 4 ใน 5 คนสุดท้ายของการประกวด อันได้แก่ เม็กซิโก, สาธารณรัฐโดมินิกัน, เปรู, บราซิล และเอเชียเพียง 1 ประเทศคือ อินเดีย 

ฉะนั้น การขับเคี่ยวระหว่างอำนาจทุน และความยุติธรรมของกรรมการในการประกวด ไปจนถึงกระแสของแฟนนางงามในแต่ละภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ชมการประกวดสามารถคาดเดาได้เลยว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะในแต่ละปีถ้าทิศทางของกระแสแฟนนางงามทั่วโลก และสปอนเซอร์เอนเอียงไปที่ประเทศไหน มงกุฎมิสยูนิเวิร์สก็ลอยอยู่เหนือหัวนางงามประเทศนั้นเพียงคืบเดียว ขอเพียงแค่การแสดงบนเวทีที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น 


‘มิสยูนิเวิร์ส’ และการคิกออฟ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทางเศรษฐกิจ 

มักมีคำกล่าวที่ว่า “ในโลกปัจจุบันคือขาลงของการประกวดนางงาม อีกไม่เกิน 30 ปี การประกวดนางงามอาจจะหายไปจากการรับรู้ของคนที่กำลังเติบโตขึ้นมา” 

ปัจจุบัน การประกวดมิสยูนิเวิร์สอยู่ในสภาพไม้หลักปักเลน จากเทศกาลการประกวดที่เคยเป็นดั่งอีเวนท์ระดับโลก สื่อทุกแขนงล้วนให้ความสนใจ ตอนนี้เหลือเพียงแค่รายการพิเศษประจำปีที่เก็บเกี่ยวคนดูได้ส่วนหนึ่ง ในอดีตมิสยูนิเวิร์สเป็นเสมือนงานระดับโลกที่คนทั่วทุกมุมโลกต่างเฝ้ารอดู ไม่แพ้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลก หลายประเทศต่างไขว่คว้าแย่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อหวังนําเสนอภาพลักษณ์ประเทศของตน

เอาแค่เฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย จะพบว่า ประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ในปัจจุบันประเทศเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ ‘เป็น’ และ ‘เคยเป็น’ เสือทางเศรษฐกิจมาแล้วทั้งสิ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (1974, 1994 และ 2016) ฮ่องกง (1976) เกาหลีใต้ (1980) สิงคโปร์ (1987) ไต้หวัน (1988) และไทย (1992, 2005, 2018) โดยใน 6 ประเทศนี้ มีเพียง ฟิลิปปินส์ และไทย ที่เป็นเจ้าภาพมากกว่า 1 ครั้ง 

กูรูนางงามอย่าง ธเนษฐ ลักษณะวิลาศ อธิบายว่า ประเทศที่เหลืออันได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นเจ้าภาพเพียงแค่ครั้งเดียวเพราะถือว่าเป็นการ ‘คิกออฟ’ ประเทศ นำเอาวัฒนธรรมการประกวดนางงามมาเป็นตัวชูโรงในการขยายเศรษฐกิจ และพร้อมต่อการลงทุนจากนานาประเทศ หลังจากนั้นกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็สามารถผลักดันตัวเอง จนไม่ต้องเอาการประกวดนางงามเข้ามาเป็นตัวผลักดันอีกต่อไป เหลือเพียงแต่ประเทศที่ ‘กำลังพัฒนา’ ซึ่งมองหาโอกาสที่จะอาศัยธุรกิจนางงามเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคมต่อไป 

ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005 ที่ประเทศไทย โดยในปีนั้น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม และสร้างภาพลักษณ์การดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงเรียกคืนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และการท่องเที่ยวหลังไทยต้องประสบกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2004 

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 พ.ค. 2548 รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณกว่า 253.5 ล้านบาทให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ในขณะนั้น) เจรจาต่อรองกับกองประกวดเพื่อขยายช่วงเวลาสำหรับการเผยแพร่สารคดีประเทศไทย รวมถึงอนุมัติงบเพิ่มอีกจำนวนกว่า 255 ล้านบาท 

ขณะที่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2548 รายงานว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการจัดการประกวดว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เจรจากับบริษัทมิสยูนิเวิร์ส เพื่อให้ขยายเวลาช่วงสารคดีเผยแพร่ประเทศไทยในวัดถ่ายทอดสดรอบตัดสินเพิ่มจาก 12 นาที เป็น 22 นาที ซึ่งการเพิ่มอีก 10 นาทีนั้น ทำให้รัฐบาลต้องหนุนงบเพิ่มอีก 255 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คืนกลับมาคือ คนดูทั่วโลกกว่า 800 ล้านคน ถือว่าคุ้มมาก เพราะหากโฆษณาในลักษณะเดียวกันนี้ อาจต้องใช้เงินมากกว่า 4,000 ล้านบาท 

https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2021/07/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A5.jpg

โดยหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2548 ทักษิณ ได้กล่าวในรายการ ‘นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน’ ว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประกวดนางงามจักรวาลนั้นได้ผลดีมากในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ถือว่าคุ้มมาก 

แต่อย่างไรก็ตามในการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปัจจุบันที่ใครต่อใครก็ต่างเบือนหน้าหนีการรับเป็นเจ้าภาพ เพราะต้องใช้งบประมาณที่มากมายมหาศาล และผลตอบรับที่ได้มานั้นอาจไม่คุ้มทุน อย่างเช่นในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ประเทศไทย โดยกลุ่มผู้จัดบริษัท TPN 2018 ที่ทุ่มทุนไปกว่า 400 ล้านบาท โดย ปิยาภรณ์ แสนโกศิก ผู้บริหาร เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยรัฐว่า การประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีดังกล่าวขาดทุนราวๆ 200 ล้านบาท และผู้ว่าฯ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสนับสนุนงบประมาณมาเพียงหลักล้านต้นๆ เท่านั้น 

ทำให้มิสยูนิเวิร์สในปีต่อๆ มา แทบไม่มีประเทศไหนอยากรับเป็นเจ้าภาพ ทำให้ ‘พอลลาร์ ชูการ์ต’ ประธานกองประกวดมิสยูนิเวิร์สต้องระหกระเหินแบกมงกุฎ และสายสะพาย พานางงามกลับไปจัดในห้องประชุมของโรงแรมคาสิโน หรือรัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ อยู่บ่อยครั้ง  

ในวันนี้แม้ลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สจะอยู่ในมือของคนไทยอย่าง ‘แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’ ผู้บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกบอล กรุ๊ป ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 800 ล้านบาท โดยวันที่ 26 ต.ค. 2565 ‘แอน-จักรพงษ์’ ได้แถลงข่าวผ่านช่อง JKN18 ว่า จะใช้ธุรกิจมิสยูนิเวิร์สในการขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จากไทยไปสู่ทั่วโลกใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร, แฟชั่น, เฟสติวัล, ภาพยนตร์ และศิลปะการต่อสู้  

ด้าน นักลงทุนอย่าง กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ได้วิเคราะห์ผ่านสำนักข่าวคมชัดลึกว่า การเข้าไปซื้อธุรกิจ Miss Universeฯ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ของ JKN แต่หากดูมูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้ ถือว่าใช้กระแสเงินสดมากพอสมควร ทั้งนี้คาดรายได้ ธุรกิจ Miss Universe ต่อปี อยู่ที่ประมาณปีละ 1,300 - 1,400 ล้านบาท ซึ่งแม้จะดูสูงกว่า 800 ล้านบาท แต่จากที่ JKN ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตคอนเทนส์เป็นหลัก จึงต้องใช้เงินลงทุนต่อปีค่อนข้างสูงมาก แปลว่าลำพังการทำธุรกิจปัจจุบันกระแสเงินสดเข้ามาไม่ค่อยพอกับตัวเลขที่ใช้ซื้อกิจการ ดังนั้นในระยะยาวจะมีความเสี่ยง อาจจะต้องมีการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มเงินสดเข้ามา 

นอกจากนี้ กิจพณ ยังมองอีกว่า คอนเทนต์ของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในอดีตคนที่มีชื่อเสียงได้ต้องมาจากการประกวด แต่ปัจจุบันคนที่มีชื่อเสียงอาจจะมาจากรูปแบบใหม่ๆ เช่น ยูทูปเบอร์ หรือบล็อกเกอร์ ดังนั้นก็คงต้องมาดูฝีมือของ JKN ว่าจะสามารถบริหารแบรนด์มิสยูนิเวิร์ส และสร้างปรากฎการณ์ได้มากกว่าเจ้าเดิมหรือไม่ 

ถึงอย่างนั้น ในโลกยุคใหม่ที่คราคร่ําไปด้วยระบบทุนนิยม ซึ่งแฝงฝังในทุกๆ รอยตะเข็บของสังคม อํานาจของทุนนิยมมีอภิสิทธิ์มากมายในการกําหนดความเป็นไป แม้กระทั่งชุดคุณค่าความงามด้วยเช่นกัน อย่างยิ่งในการประกวดความงามยุคใหม่ที่ถูกตั้งอยู่ในภาพของธุรกิจความงามก็คงปฏิเสธได้ยากว่า ทุนก็เป็นปัจจัยหลักในการดํารงอยู่ของธุรกิจนี้

ในแง่มุมของนางงาม การประกวดมิสยูนิเวิร์สอาจหมายถึงโอกาสของผู้หญิงในอีกหลายๆ ประเทศที่ไม่เคยได้รับโอกาส เพียงแค่เข้ารอบแรกบนเวทีนางงามก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับชีวิตพวกเธอให้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถเป็นใบเบิกทางที่ดีเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิงได้อย่างรวดเร็ว

หากนับรวมเส้นทางของมิสยูนิเวิร์สก็ดำเนินมากว่า 71 ปี บริษัทผู้ถือครองลิขสิทธิ์ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไม่ซ้ำหน้า ก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในรสนิยมความงาม และความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสังคม 

https://people.com/thmb/q_Qw_4g4sLq4mt5r_zBHgnFgdr4=/1500x0/filters:no_upscale():max_bytes(150000):strip_icc():focal(939x132:941x134)/Anna-Sueangam-iam-011523-01-2000-0fdd9337fca8401cb90ea6e68ca9bab2.jpg

ไม่รู้ว่า ‘แอน-จักรพงษ์’ จะพาเวทีการประกวดระดับตำนานนี้ไปสู่ทิศทางไหน แม้แฟนนางงามไทยจะมองว่าเป็นผลดีที่คนไทยเป็นเจ้าของ อาจทำให้ไทยเข้าใกล้ ‘มง 3’ ได้มากขึ้น 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และสีสันให้กองประกวดก็คือ ในยุคที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เข้ามาซื้อกิจการ ‘สหรัฐอเมริกา’ คือประเทศแรกที่ประเดิมมงกุฎ ส่วนในวันนี้ที่ ‘แอน-จักรพงษ์’ เป็นเจ้าของกิจการ ‘สหรัฐอเมริกา’ ก็เป็นประเทศแรกที่ประเดิมมงกุฎอีกครั้ง 

ส่วนประเทศไทยที่เฝ้ารอ มงกุฎมิสยูนิเวิร์สเรือนที่ 3 ต่อจาก ‘ปุ๊ก-อาภัสรา หงสกุล’ และ ‘ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก’ จะมาเมื่อไหร่ยังไม่รู้ชัด หรือต้องรอวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ในวันนั้นซอฟต์พาวเวอร์ที่พูดถึงอาจจะได้ปรากฎบนเวทีโลกกับเขาบ้าง


อ้างอิงจาก

MU2005 เวทีนางงามที่รัฐบาลใช้โปรโมตท่องเที่ยว-เรียกความเชื่อมั่น หลังสึนามิเพียง 5 เดือน

ภาพเก่าเล่าตำนาน : ฝูงบินมฤตยู...เคยมาอยู่...ณ อู่ตะเภา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

นักลงทุน วิเคราะห์ "แอน จักรพงษ์" ซื้อ MISS UNIVERSE เสี่ยงขาดทุนสูง เพราะ ?

แย่แล้ว ตี๋ ต้องใช้หนี้หลักร้อยล้าน หลังประกวดมิสยูนิเวิร์ส

ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog