นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2562 ว่า ล่าสุดจากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชน พบว่า การกำหนดราคาขายของโรงพยาบาลแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือ ไม่สอดคล้องกับต้นทุน คือต้นทุนต่ำแต่ราคาขายสูง
โดยการศึกษารายการยา 6 ชนิด คือ ยาลดไขมัน (Bestatin) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 2-61 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุน (Mark Up) สูงถึง 11,965 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 60-99.17 % รองลงมา คือ ยาแก้ปวดลดไข้ (Tylenol) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 1-22 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 4,483 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 21-97.82 %
ขณะที่ยาลดความดัน (Anapril) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 2-56 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุน 9,100 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 60-98.91 %
ส่วนยารักษาลมชัก (Depakine) ช่วงราคาขาย 300-1,354 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 470 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 20.71-82.46 %
นอกจากนี้ยังมียาฆ่าเชื้อ (Ciprobay) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 1,723-3,654 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 255.81 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 37.18-71.90 %
ยามะเร็ง (Herceptin) ช่วงราคาขายอยู่ที่ 86,500-234,767 บาท มีการบวกส่วนเพิ่มจากต้นทุนสูงสุด 188.80 % และมีอัตราส่วนกำไรส่วนเกิน ประมาณ 63.37 %
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาขายสูง 10 อันดับแรก และราคาขายต่ำ 10 อันดับแรก พบว่า ปัจจัยทีมีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจ และประเภทธุรกิจ และปัจจัยด้านแหล่งที่ตั้ง โดยโรงพยาบาลแบบกลุ่มที่มีบริษัทในเครือประเภทบริษัทจำกัด และบริษัทจำกัดมหาชนมีการกำหนดราคาขายสูงสุด
ในขณะที่โรงพยาบาลแบบเดี่ยวประเภทบริษัทจำกัดและมูลนิธิ ส่วนใหญ่มีการกำหนดราคาขายค่อนข้างต่ำ ขณะที่ราคาซื้อค่อนข้างสูงกว่า นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกำหนดราคาขายสูง
“ขั้นตอนต่อไป คือ เราจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ถ้าถึงวันที่สามารถสรุปว่าเป็นตัวที่ไม่เหมาะสมจะเอามาร์จิ้นมาตรฐานมาใช้ นี่คือเป้าหมาย แต่ถ้าเห็นว่าเหมาะสมก็จะดูแนวทางอื่น แต่คิดว่าควรเป็นแนวทางแรก” นายวิชัย กล่าว
อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ยังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาต้นทุนราคายากว่าที่จะสามารถสรุปต้นทุนและราคาจำหน่ายยาทั้ง 3,900 รายการได้ นอกจากนี้ยังมีค่าบริการต่างๆ ด้วย ดังนั้นจึงยังตอบไม่ได้ว่าจะกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการในลักษณะบังคับได้ในช่วงใด และจะสามารถกำหนดส่วนเพิ่มจากทุนได้เท่าไหร่นั้นขอดูความเหมาะสมก่อน แต่มองว่าควรจะกำหนดแบบแบ่งฐานตามประเภทความต้องการของยาแต่ละชนิด และราคาต้นทุน
ทั้งนี้กรมการค้าภายในมีแผนแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่กำหนดราคายาไม่สูงเกินไปเป็นโรงพยาบาลคุณธรรมจากเดิมที่จะใช้ชื่อโรงพยาบาลสีเขียว เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถตัดสินใจเลือกโรงพยาลราคาถูก