ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาชวนถกปัญหากรุงเทพ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวจริงหรือไม่? หลังพบปัจจัยหลายอย่างสะท้อนถึงการทำงานที่ไม่เป็นระบบ และมีการคอร์รัปชันร่วมด้วย ส่วนคนกรุงเทพฯ มีความเครียดสะสม เสี่ยงกลายเป็น 'ซึมเศร้า' ได้ แนะสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำให้คนกรุงมีสุขภาพที่แข็งแรง

นิทรรศการ 'กรุงเทพในฝัน' เริ่มขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ 'กรุงเทพปลอดภัยกับชีวิตดีดีที่ลงตัว' โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 'จ่านิว' นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะหนึ่งในผู้ถูกลอบทำร้ายระหว่างใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร, พญ.อรพินท์ ภูมิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย, และปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา นักเคลื่อนไหวประเด็นการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นการเข้าถึงชีวิตที่มีความปลอดภัย จากอันตรายในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ชาวกรุงเทพต้องเผชิญในขณะนี้

0A9845B7-F263-4A3A-BBE0-712432412E5E.jpg

'จ่านิว' ยกกรณีถูกรุมตีสะท้อน 3 ปัญหาของ กทม.

สิรวิชญ์ระบุว่าส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ใช้ชีวิตเติบโตแถวชานเมืองมาตลอด ส่วนใหญ่อยู่แถบหนองจอก-มีนบุรี เรียนหนังสือก็อยู่ที่ย่านชานเมือง เห็นตั้งแต่สมัยยังเป็นทุ่งนาจนกระทั่งเกิดบ้านจัดสรรขึ้นมา จากที่ไม่เคยเห็นรถติดแถวบ้าน มาตอนนี้รถติดมาก

สิรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ชีวิตของคนกรุงเทพเป็นชีวิตที่มีปัญหาตลอดเวลา อย่างกรณีที่มีการยกมาพูดคุยกันเรื่องที่ตนเคยถูกรุมทำร้ายร่างกาย เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวก็สะท้อนปัญหาของกรุงเทพได้หลายกรณีแล้ว เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2562 แถวห้วยขวาง พอไปแจ้งความ กำลังจะมีการติดตามคนร้าย ปรากฏว่าตำรวจแจ้งว่าใบไม้บังกล้องวงจรปิด

ส่วนในเหตุการณ์ครั้งวันที่ 8 มิ.ย. 2562 ที่ตนถูกรุมฟาดจนบาดเจ็บสาหัส การพยายามเข้าไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดทำให้พบว่ากล้องวงจรปิดมีของ 3 หน่วยงาน คือกรุงเทพมหานคร, ตำรวจนครบาล, และกองบังคับการตำรวจจจราจร กว่าจะเจอเทียบกันได้ก็ต้องประสานงานกันวุ่นวาย กล้องบางตัวก็ใช้การไม่ได้ สุดท้ายด้วยความที่กล้องมีของหลายหน่วยงานหลายตัว จนตามไม่ติด คนร้ายเองก็รู้อย่างดี อาศัยจังหวะที่จะหลบกล้องและมุมกล้องได้ ผ่านไปแล้วหนึ่งปีจึงยังจับคนร้ายไม่ได้

จากเรื่องที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้สะท้อนปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ตั้ง 3 ประการ คือ 

1.การทุจริตคอร์รัปชัน การประมูลทำอย่างไรในการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้อง ไม่มีใครรู้เลย 

2.หน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณมหาศาล แต่แค่การดูแลให้กล้องไม่โดนใบไม้บังยังดูแลไม่ได้ สะท้อนความไม่ใส่ใจ 

3.กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีอาณาเขตมโหฬาร แต่ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานกรุงเทพฯ วันนี้เหมือนเจ้ากระทรวงมากกว่า ไม่ใช่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การทำงานเป็นแบบข้าราชการประจำ เหมือนมีปลัดกรุงเทพซ้ำซ้อนกันสองคน ไม่ทำงานเชิงรุก เพียงเซ็นเอกสารไปวันๆ เท่านั้น

กรุงเทพฯ ปัญหาร้อยแปดเรื้อรัง เหตุกระจายอำนาจไม่สุด-บูรณาการแค่ปาก

สิรวิชญ์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาคือความทับซ้อนของหน่วยงาน จนต้องมีคำว่า 'บูรณาการ' ขึ้นมา พูดกันทุกรัฐบาล แต่เอาแค่แทงหนังสือถึงกันยังเป็นเรื่องยากแล้วกว่าจะเซ็นกันครบ บางเรื่องเช่นแค่การดูแลทางเท้าที่เกิดปัญหา ตนเคยร้องเรียนอยู่ครั้งหนึ่ง สุดท้ายต้องผ่านลายเซ็นกันสิบคนกว่าจะไปถึงผู้อำนวยการเขตวัฒนาได้ และสุดท้ายปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ทวงถามก็มีคำตอบก็มีแค่ว่ากำลังดูให้อยู่

คำขวัญของกรุงเทพมหานครที่ว่า 'กรุงเทพชีวิตดีๆ ที่ลงตัว' แต่ในความเป็นจริงเวลาแก้ปัญหายังลงรอยกันไม่ได้ ปัญหาของกรุงเทพฯ กับประเทศไทยอยู่ที่ว่าเรากระจายอำนาจไม่สุด กรุงเทพฯ เป็นที่แรกๆ ที่มีอะไรก่อนเพื่อน เทศบาลแห่งแรกก็มีที่กรุงเทพฯ สุขาภิบาลแรกก็กรุงเทพฯ แต่สุดท้ายความไปไม่สุดคือปัญหา

49863AA4-C0AD-4872-B661-8D3E3FC8B35F.jpg

ในท้ายที่สุดคนกรุงเทพฯ สำหรับตนแล้วถือว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกว่าคนต่างจังหวัดในบางมุมด้วย คนต่างจังหวัดยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งก็ดูแลทั้งจังหวัด แต่ในส่วนย่อยของเขาคือเทศบาลกับ อบต. ถ้า อบต.ไหนดีเขาก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ดี แต่ของเราคือมีแต่ผู้ว่าคนเดียว ไปหาผู้อำนวยการเขตก็ทำอะไรได้ ได้แต่รอคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงเท่านั้น

"ท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดทั้งมวลนี้ ปัญหาของกรุงเทพฯ ก็คือรัฐบาลเอง รัฐไทยเองกล้าที่จะให้อำนาจส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดให้เขาจัดการกับกรุงเทพได้หรือเปล่า แล้วคุณจริงใจพอที่จะกระจายอำนาจไหม หรือคุณคิดว่าก็อยู่แค่นี้ กล้ำๆ กลืนๆ กันไป ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันแล้ว เพราะว่าพูดปัญหาไปพูดปัญหามาก็จะเจอปัญหาเดียวกัน คือการบูรณาการของหน่วยงานมันเป็นแค่คำพูดของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่พอประสานงานต่อจริงๆ เละ" สิรวิชญ์กล่าว

นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพจิต ชี้คนกรุงเครียดสะสมส่งผลเป็นโรคซึมเศร้าได้

ด้านปราชญา ระบุว่าปัญหาของคนกรุงเทพฯ วันนี้มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตโดยตรง เมืองที่ดีและปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีได้ เราทุกคนย่อมเคยเห็นมากับตาตัวเอง กับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพมหานครมากมาย

เรื่องสุขภาพจิตอาจมีการมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเมื่อพูดถึงคำว่าโรคซึมเศร้าก็ไม่เคยมีใครคิดว่าตนจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่ความเครียดที่สะสมจนเกิดกว่าที่คนๆ หนึ่งจะรับไหวได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ปัญหาและมรสุมในชีวิต ที่มาผสมกับปัญหาที่ต้องเจอทุกวันในกรุงเทพฯ สามารถนำไปสู่สุขภาพจิตของคนๆ หนึ่งได้

การที่จะต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่หนัก การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เช่น คนที่ต้องต่อรถแท็กซี่เข้าบ้านทุกวันเพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึง ต้องเสียเงินวันละมากๆ ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ แต่ระหว่างทางที่เรายังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ คนกรุงเทพฯ ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตต่อไป

0E83209D-9C65-4EA0-BF54-B51F85D89AA0.jpg

"ถ้าสมมติว่าวันนี้เราเจอเรื่องแย่ๆ มา แต่เราออกมาเจอสวนสาธารณะที่มันดี เจอฟุตบาทที่มันเรียบสนิท เดินได้แบบไม่ต้องกังวลว่าฟุตบาทมันจะมีหลุมมีบ่ออะไรหรือเปล่านะ มันจะทำให้วันของคนๆ นั้นดีขึ้นได้ แต่ถ้าสมมติว่าเมืองไม่สวย ไม่ได้มีปัจจัยอะไรที่ดี สวนไม่มี มีแต่ขยะ มีแต่น้ำที่ไม่เจริญหูเจริญตาหรือทำให้คนมีสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้น มันก็จะทำให้คนๆ นั้นสุขภาพจิตแย่ลงได้" ปราชญา กล่าว

ปราชญา ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าใครที่พบเจอปัญหาในกรุงเทพฯ เจอปัญหาสุขภาพจิตเสียจากสภาพแวดล้อม การพบจิตแพทย์ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกวันนี้สังคมยังมีมุมมองว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องของคนบ้า แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก ในหลายประเทศถ้าใครต้องพบกับความเครียดหรือมีอะไรไม่สบายใจสามารถเดินเข้าหาจิตแพทย์ได้โดยไม่ถูกตัดสิน

หมอแนะ ล้างปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ-สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

ด้าน พญ.อรพินท์ กล่าวว่าถ้าเทียบกรุงเทพฯ เป็นเหมือนคนไข้ที่เราต้องรักษา เราต้องมาดูที่สามปัจจัย ประการแรกคือ host หรือตัวคนกรุงเทพเอง ถ้าประชากรกรุงเทพมีสุขภาพกาย-สุขภาพจิตที่ดี ร่างกายแข็งแรง การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ก็จะทำได้สะดวก แล้วเราจะสามารถร่วมกันสร้างเมืองกรุงเทพที่ดีกว่านี้ได้

ปัจจัยที่สอง คือ agent หรือเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย เช่นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้อย่างโควิด หรือโรคประจำที่กรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญอยู่ทุกปีคือปัญหาไข้เลือดออก ที่มีคนเสียชีวิตทุกปี ไปจนถึงปัญหาขยะกัมมันตภาพรังสี สารที่เป็นอันตราย สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราต้องมาดูว่าเรามีสิ่งอันตรายที่ต้องกำจัดออกอะไรบ้าง

"และข้อสุดท้ายก็คือ environment ก็คือสิ่งแวดล้อม ลองคิดดูถ้าเราตื่นขึ้นมา เรามีแม่น้ำ เรามีคลองที่ใสสะอาด เรามีสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพออกกำลังกาย รถไม่ติด ทำงานเสร็จแล้วเราสามารถมีเวลาผ่อนคลาย มาออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ รถยนต์มีถนนที่ปลอดภัยวิ่ง มีไฟส่องสว่างที่เพียงพอ คนที่ออกกำลังกายมีลู่วิ่ง คนปั่นจักรยานที่ลู่ปั่นจักรยานที่เหมาะสม ลองคิดดูกรุงเทพฯ เราไม่ต่างจากสวรรค์ดีๆ นี่เอง" พญ.อรพินท์ กล่าว

ดังนั้น ระบบสาธารณสุขจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ระบบสาธารณสุขประเทศใดที่ไม่ได้รับการดูแลดีพอสามารถทำให้ประเทศนั้นล้มละลายได้ ถ้าเราแข็งแรงเราสามารถเอาสุขภาพไปทำงานหาเงินได้อีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่ถ้าเราสุขภาพไม่ดี บางคนอาจต้องเอาเงินที่หามาทั้งชีวิตมาใช้กับเรื่องสุขภาพ

59268C98-D14B-4089-BD59-9780080BDE37.jpg

เมื่อย้อนกลับมามองตัวเราเอง หลายคนคงสังเกตว่าเวลาเราเข้าโรงพยาบาลจะรู้สึกว่าเราเป็นแค่หวัดนิดเดียว หมอจ่ายยาตัวเดิมๆ เหตุใดค่ารักษาพยาบาลจึงแพงขนาดนี้ แล้วโรคที่รักษายากมีความซับซ้อนอย่างโรคหัวใจที่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์มหาศาล ค่ารักษาพยาบาลยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของเราความจริงแล้วมากมายมหาศาล แต่จะทำอย่างไรให้ระบบของเราไม่ล่มสลาย ทำให้ประชากรไม่ล้มละลายไปกับการดูแลสุขภาพ หมอของเราทุกวันนี้จึงเน้นไปที่การป้องกันโรคมากกว่าการรักษา หากมีปัจจัยที่ทำให้ประชากรป่วยตลอดเวลาแล้วทุ่มไปที่การรักษา งบประมาณเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ 

การสร้างปัจจัยการป้องกันโรคทางด้านสาธารณสุขจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และที่สำคัญ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมได้ อย่างเช่นกรณีของโรคโควิด-19 ที่เราช่วยกันให้ความร่วมมือจนสามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยดีในปัจจุบัน