ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย ควง ผู้ประกอบการรายย่อย จี้ รัฐบาลออก พ.ร.ก.กองทุน-ตั้งสภา 5 ฉบับ ให้ SMEs-สตาร์ทอัพ-วิสาหกิจ เป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังงบเงินกู้ 1 ล้านล้านลงไม่ถึง ด้าน 'สุดารัตน์' ยืนยันทำได้ แต่รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs, กลุ่ม Startup (สตาร์ทอัพ) และวิสาหกิจชุมชน นำโดยไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย หรือ สภา SME เดินทางเข้าพบและหารือกับผู้บริหาร และส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และโภคิน พลกุล ประธานกรรมการด้านนโยบายและแผนงานพรรคเพื่อไทย แถลงข้อเรียกร้องและสถานการณ์ SMEs ในไทย 

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้หารือกับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่องและเป็นห่วงทั้ง 3 กลุ่ม ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ประโยชน์จาก 'เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท' ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยาโควิด-19 '4 แสนล้าน' หรือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ soft loan '5 แสนล้าน' ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะ SMEs ราว 3 ล้านรายที่ 99% เป็นรายเล็กไม่อยู่ในระบบธนาคาร ไม่สามารถกู้เงินได้ จึงมีปัญหาสภาพคล่องและยอดขายที่ลดลง ซึ่งปัญหาเกิดจากโครงการหรือแผนงานใช้เงินต่างๆ เสนอจากหน่วยงานราชการ โดยผู้ประกอบการไม่มีส่วนร่วม ทำให้ท้ายที่สุดไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และเชื่อว่าภายใน 2-3 เดือน หากผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง 3 กลุ่มไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจะเจ๊งกันหมด คนจะตกงานจำนวนมาก ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จนอาจกลายเป็นมหาวิกฤต 

คุณหญิงสุดารัตน์ ได้สรุปผลหารือกับผู้ประกอบการว่า มีข้อเสนอ ให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 5 ฉบับ คือ จัดตั้งสภา SMEs, จัดตั้งสภาสตาร์ทอัพ และจัดตั้งสภาวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้รายเล็กรวมกลุ่มกันได้ รวมถึง ตั้ง 2 กองทุนคือกองทุน SMEs และกองทุนสตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นองค์กรนิติบุคคล เพื่อขอรับงบประมาณ หรือภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ 30-​40% จาก soft loan หรือแบ่งจากเงินกู้เยียวยา และฟื้นฟูหลังโควิด-​19 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากที่รัฐบาลเคยทำ และจะถือเป็นการให้ 'เบ็ดตกปลา' แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก หลังจากรัฐบาลได้แจกปลาให้ประชาชนผ่านการแจกเงินไปแล้ว ที่สำคัญวิธีนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและจะทำให้ทั้ง SMEs สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจ เป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ โภคิน พลกุล ย้ำถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ที่อยู่นอกระบบธนาคาร เข้าไม่ถึงแหล่งทุน การมีสภาทั้ง 3 ส่วน จะเป็นพื้นที่และให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสรวมตัวกัน คิดและเสนอการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาให้ส่วนราชการคิดโครงการเองโดยไม่ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการ 

ส่วนการมีกองทุนก็จะเป็นระบบที่แตกต่างจากสถาบันการเงินหรือโครงสร้างธนาคารทั่วไป การตั้งเป็นกองทุนจะมีเงื่อนไขเอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า และแนวคิดนี้เป็นการตกผลึกร่วมกันกับผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสนอกฎหมายสภา SMEs ไปแล้วและจะผลักดันต่อไป

ด้าน ไชยวัฒน์ กล่าวสนับสนุนการผลักดัน พ.ร.ก.ทั้ง 5 ฉบับ และมองว่า การที่งบประมาณของภาครัฐลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการรายย่อย เกิดจากขาดกลไกดำเนินการ เพราะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้คิดโครงการเอง ภาคเอกชนไม่มีส่วนร่วมเเละของบประมาณได้ตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด แต่การมีกองทุนเฉพาะ ซึ่งจะเป็นนิติบุคคลหรือเป็นส่วนเอกชน รวมถึงการตั้งสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องนั้น เชื่อว่า จะกลายเป็นฟันเฟืองทั้งหมดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน เพื่อให้การใช้งบประมาณและการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพและเป็นจริงได้