ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมิ.ย. ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอต่อถึงสิ้นปี

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI เดือน มิ.ย.62 ซึ่งสำรวจจากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ รวม 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-29 มิ.ย. 2562ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน มิ.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงจากเดือน พ.ค.2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.4 และเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2562 

โดยปัจจัยด้านลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอน และขาดความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ของประเทศ (ในช่วงสำรวจความคิดเห็น ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่) การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. ลดลงร้อยละ 5.79 ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนไม่สูงมาก ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประชาชนเผชิญปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์ภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.75 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET Index ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 110.12 จุด ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากเดือนพ.ค. สะท้อนว่ายังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัด และเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่มี.ค.2562 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้นำภาคเอกชนในทุกจังหวัดมองว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 จนถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ และอาจจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 3 และไตรมาส 4

"จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในแต่ละจังหวัดพบว่าลดลง มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะลากไปถึงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวไปจนถึงสิ้นปี" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้จึงเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาค ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล และรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ดูแลช่วยเหลือภาคการเกษตร ภาคสังคม ภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :