ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ค้าย่านสีลมสะท้อนโครงการ 'ถนนคนเดิน' ไม่ช่วยพ่อค้า-แม่ค้าอย่างแท้จริง วอนรัฐบาลคืนพื้นที่ทำกินบนทางเท้า ย้ำสามารถรักษาความเป็นระเบียบเพื่อความสะดวกในการเดินบนทางเท้าประชาชนได้

เมื่อ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน 'ถนนคนเดินสีลม เดิน กิน ชิม เที่ยว Walking Street@Silom' ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของทุกเดือน ตั้งแต่ ธ.ค.2562 - พ.ค.2563 เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้าและแม่ค้ามาจำหน่ายสินค้า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในพิธีเปิดโครงการ นายกฯ ได้ไปเยี่ยมชมบูธของ CP-CPF ที่มาจับจองพื้นที่ในการขายของครั้งนี้เช่นเดียวกัน

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังกล่าวเปิดงานว่า ตนและรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่ทำกิน และกำลังหามาตรการรองรับ การจัดระเบียบ การหาวันและพื้นที่ให้ผู้ค้า ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างหารือกันอยู่


ประยุทธ์-สีลม-ถนนคนเดิน


"ผมอยากจะบอกข่าวดีว่า กำลังหารือกันอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย รู้" นายกฯ กล่าว

นอกจากบูธของผู้ค้าปลีกเจ้าใหญ่หรือร้านค้าชื่อดัง 'หาบเร่แผงลอย' เป็นผู้ค้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนายกไม่ได้เดินมาพูดคุยด้วยในงานเปิดตัวถนนคนเดินวานนี้ แต่ผู้ค้าได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ถึงความอัดอั้นตันใจจากผลกระทบของมาตรการปราบปรามหาบเร่แผงลอยตั้งแต่สมัยของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งอ้างว่าเป็นการปรับภูมิทัศน์ รักษาความสะอาด และเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเดินถนนในเมืองใหญ่ 

'ปาจรีย์ ชูแก้ว' แม่ค้ารองเท้าแฟชัน กล่าวว่า ในช่วงที่โดนไล่ที่มากๆ เธอและสามีต้องสูญเสียที่ทำกินและว่างงานเป็นเวลาหลายเดือน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรออยู่ ทั้งค่าที่พัก รวมไปถึงค่าเทอมของลูก พร้อมสะท้อนว่า เพื่อนผู้ค้าของเธอหลายคนก็ต้องกลับต่างจังหวัดและทำให้เด็กหมดโอกาสเรียนหนังสือต่อ


หาบเร่แผงลอย
  • 'ปาจรีย์ ชูแก้ว' แม่ค้ารองเท้าแฟชัน
"ลูกต้องเรียน ก็เลยต้องสู้ ก็ร้องไห้ไปสู้ไป" ปาจรีย์ กล่าว

ขณะที่ 'ยงยุทธ เศษเพ็ง' พ่อค้าขายแบตเตอรี่สำรอง สะท้อนว่า ตนไม่ได้มีทางเลือกมากนัก แม้จะโดนไล่ที่ก็ต้องหาที่ขายอยู่ดี เพราะลำพังทำงานประจำอย่างเดียว รายได้ก็ไม่พอรายจ่าย ซึ่งการออกมาขายของตามทางเท้าหลังเลิกงานเป็นทางเดียวให้ตนมีรายได้เพียงพอในการอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 


หาบเร่แผงลอย
  • 'ยงยุทธ เศษเพ็ง' พ่อค้าขายแบตสำรอง

ด้าน 'บริบูรณ์ แสงเขียว' พ่อค้าพวงกุญแจ และ 'สุพัตรา บัวนุ้ย' แม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ตอบในทำนองเดียวกันว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำ คือการแอบมาขายของ พอเจ้าหน้าที่มาก็หลบ พอเจ้าหน้าที่ไปก็ออกมาขายใหม่ 


นโยบายกลับไปกลับมา

นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาล คสช. เริ่มกวาดล้างหาบเร่แผงลอยอย่างจริงจัง มาจนถึงวันนี้ สถานที่หลายแห่งที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้าก็ลดน้อยลงและหายไป โดยหากมองแค่ในกรุงเทพฯ มีผู้ได้รับผลกระทบหลายหมื่นราย


หาบเร่แผงลอย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจในประเทศและการบริโภคของประชาชนดูซบเซา 'หาบเร่แผงลอย' ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน โดยมีงานวิจัยออกสนับสนุนว่าแท้จริงแล้วประชาชนที่ไม่ได้มีรายได้มากนักก็ฝากท้องไว้กับหาบเร่แผงลอยและสตรีทฟู้ดเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้เป็นนโยบายที่พ่อค้าแม่ค้ามองว่าจะช่วยพวกเขาได้อย่างแท้จริง 

'ยงยุทธ' อธิบายว่า การจัดงานถนนคนเดินช่วยได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะรัฐบาลเองก็ไม่สามารถปิดถนนได้ตลอด แต่มองว่าหากจะช่วยผู้ค้าอย่างถาวรก็ควรให้กลับไปขายบนทางเท้ามากกว่า เนื่องจากเข้าถึงประชาชนได้ตลอด

ขณะที่ 'ปาจรีย์' ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดงานแบบนี้ กระตุ้นยอดขายได้เพียงร้อยละ 10 - 20 เท่านั้น แต่ทางออกที่ดีที่สุดยังคงเป็นการคืนที่ทำกินเดิมให้กับผู้ค้าอยู่ดี



'สิทธิของประชาชน' - ผู้ค้าก็เข้าใจ

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยครั้งนี้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเข้าใจความยากลำบากในการเดินบนทางเท้าของประชาชน และมองว่าประชาชนมีสิทธิที่จะเดินบนทางเท้าด้วยความสะดวกสบาย 

ผู้ค้าชี้ว่า สิ่งที่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดการไม่ใช่การปราบปราม แต่เป็นการจัดการและจัดระเบียบ มีการแบ่งพื้นที่ค้าขายให้ชัดเจน และย้ำว่าหากร้านค้าไหนทำผิดกฎก็ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้อย่างเต็มที่ 


ชาวต่างชาติ - อาหาร - สตรีทฟู๊ด

นอกจากนี้ 'ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ' ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) เคยออกมาพูดถึงผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการเดินเท้าของคนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 จากโครงการ “เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี” โดยสะท้อนว่า ประชาชนมองว่าแผงลอยทำให้ถนนมีชีวิตชีวา แต่ก็ไม่ชอบที่ทำให้ทางเท้าสกปรก วางเบียดเกะกะ แต่ถ้าสามารถจัดสรรพื้นที่แผงลอยให้สามารถจำหน่ายอาหารราคาถูกและหลากหลายให้กับคนเมืองได้ และมีที่ทิ้งขยะ มีระบบน้ำ-ไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็น่าจะลงตัวกับทุกฝ่าย

แม้การคำนึงถึงสิทธิการเดินบนทางเท้าของประชาชนจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยก็เป็นประชาชนที่มีสิทธิในการทำมาหากินเช่นเดียวกัน การออกมาตรการในทำนองแมวไล่หนูไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้้น้อยที่มักฝากท้องไว้กับร้านค้าข้างถนนเช่นเดียวกัน 

ท้ายที่สุดแล้ว แม้การหารือร่วมกันโดยรวมทั้งรัฐบาล ภาคประชาชน และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่แค่ในงานเปิดตัวโครงการถนนคนเดิน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นความพยายามช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่นายกรัฐมนตรีกลับ "เดินไปไม่ถึง" ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยด้วยซ้ำ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;