ไม่พบผลการค้นหา
โลกโซเซียลวิจารณ์โครงการสายรัดข้อมือและแอปพลิเคชั่น 'หาย (ไม่) หวง' ทำผู้ป่วยวุ่น ละเมิดความเป็นส่วนตัว ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาแจง โครงการทำขึ้นเพื่อลดปัญหา "คนหาย" จากอาการป่วยทางจิตเวช สมองเสื่อม ย้ำเป็นการติดตั้งโดยสมัครใจ เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา

ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ชี้แจงในเพจกรณีดราม่าโครงการ 'หาย (ไม่) ห่วง' สายรัดข้อมือติดตามคนหาย ผู้ป่วยจิตเวช สมองเสื่อม ใช้คู่กับแอปพลิเคชั่น Thaimissing หลังจากเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสายรัดข้อมูล (ริสแบนด์) หาย(ไม่)ห่วง โครงการนี้เกิดจากเราในฐานะคนทำงานติดตามหาคนหาย พบสถิติคนหายจากการพลัดหลงออกจากบ้าน ด้วยสาเหตุป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวชและกลุ่มพัฒนาการทางสมอง ซึ่งหายออกจากบ้าน “ด้วยความไม่สมัครใจ” แต่เป็น “พลัดหลง” ด้วยความเจ็บป่วยและไม่สามารถจำจดข้อมูลส่วนตัวเมื่อมีคนไปให้ความช่วยเหลือได้

โดยสถิติคนหายในรอบ 3 ปีย้อนหลัง จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นมีคนหายในประเภทนี้จำนวน 1,420 ราย

สำหรับสายรัดข้อมือ หาย(ไม่)ห่วง จึงทำหน้าที่ในการระบุตัวบุคคลว่าผู้สวมใส่เป็นใคร โดยผู้จัดทำพยายามอย่างถึงที่สุดและตระหนักต่อการปกป้องสิทธิของผู้ป่วยที่พลัดหลงหายออกจากบ้านโดยไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเองแก่ผู้ให้การช่วยเหลือได้ โดยแม้กระทั่งผู้ทำการช่วยเหลือจะสแกนคิวอาร์โค้ตที่สายรัดข้อมือ ก็จะทราบเพียงว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือในการนำส่งสถานีตำรวจใกล้เคียง(ตามภาพที่แนบมา-หมายเลขโทรศัพท์คือหมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา) และซึ่งจะมีเพียงเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาเท่านั้นที่จะทราบข้อมูลหลังมีพลเมืองดี สแกนคิวอาร์โค้ตว่าสายรัดข้อมือที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นใคร ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลประสานงานญาติตามระบบไม่ใช่ในทางสาธารณะ 

ดังนั้น จึงแจ้งเพิ่มเติมว่า

1.สายรัดข้อมือนี้ เป็นระบบสมัครใจของครอบครัวผู้ป่วยในการร่วมโครงการ การสมัครทำโดยสมัครออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Thaimissing เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีการบังคับหรือไปหาสมาชิกใดๆทั้งสิ้น ครอบครัวผู้ป่วยที่สมัครดำเนินการด้วยตัวเอง 

2.โครงการเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (14 กพ 2562) ดังนั้นผู้สมัครเข้าโครงการทั้งหมดคือผู้ทราบข่าวเมื่อวานนี้เท่านั้น ทั้งนี้ มีครอบครัวผู้ป่วยที่ได้รับสายรัดข้อมูลไปทำการทดลองสวมใส่จำนวน 80 ครอบครัว ซึ่งเป็นครอบครัวคนหายรายเดิมที่พบตัวแล้วของมูลนิธิกระจกเงา และสมาชิกของสมาคมออทิสติก ซึ่งผู้รับการทดลองใช้งานยินยอมในการสมัครเข้าร่วมโครงการ 

3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่งสื่อสารผ่านสาธารณะเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันเปิดตัวโครงการ และไม่เคยมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ไปสำรวจข้อมูลผู้ป่วยจิตเวช โรคสมองเสื่อมเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างแน่นอน 

4.มูลนิธิกระจกเงาได้คุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากการมีบุคคลอ้างว่าเป็นตำรวจไปพบที่บ้าน และได้คุยกับตำรวจผู้เกี่ยวข้องแล้ว การกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใดๆกับโครงการสายรัดข้อมือหาย(ไม่)ห่วงอย่างแน่นอน 

5.การดำเนินการโครงการนี้ทำด้วยเจตนาดีต่อการช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญหายและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ เรียนย้ำว่า โครงการนี้เป็นระบบสมัครใจเข้าร่วมโครงการและระบบไว้วางใจต่อการให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามมูลนิธิกระจกเงาจะน้อมรับทุกปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป แต่ข้อความที่เพจ DRAMA ADDICT นำเสนอไม่ใช่เกิดจากการดำเนินโครงการของเราอย่างแน่นอนครับ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดตัวโครงการ "หาย (ไม่) ห่วง" ด้วยการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาต่อยอดจากแอปพลิเคชั่น Thaimissing เพิ่มอุปกรณ์สายรัดข้อมือติดตามตัวคนหาย

สายรัดข้อมือดังกล่าวจะมี OR Code เลขรหัส และข้อมูลของผู้สวมใส่ เพื่อช่วยติดตามคนหายในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคจิตเวช พัฒนาการทางสมองช้า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงในการพลัดหลงหายออกจากบ้านและไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้

ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา พบว่า ปี 2561 มีคนหายรวม 906 คน เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 309 คน ส่วนกลุ่มที่หายตัวออกจากบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 531 คน สาเหตุเกิดจากโรคสมองเสื่อม จิตเวช และพัฒนาการทางสมองช้า

ทั้งนี้ ครอบครัวของผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น Thaimissing โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android จากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา จะติดต่อกลับไปเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในระบบ และจัดส่งสายรัดข้อมือทางไปรษณีย์ สอบถามเพิ่มเติมโทร 095-631-1914


ภาพจาก : Photo by rawpixel on Unsplash