ไม่พบผลการค้นหา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยผลตรวจชิ้นเนื้อ "น้ำตาล เดอะสตาร์" เป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย ชี้อุบัติการณ์วัณโรคในไทยยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของนางสาวน้ำตาล - บุตรศรัณย์ ทองชิว โดยมี รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ร่วมด้วย โดยระบุว่าสืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของนางสาวน้ำตาล เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูก และพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไปจากปกติ ขนาดประมาณ 0.5 – 1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าว เพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมา หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ คณะแพทย์ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือ การตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรค ได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าว และผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่ามีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย

ศิริราช3.jpg

ทั้งนี้ จากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง

สำหรับข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของนางสาวน้ำตาลนั้น

1. อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ

2. ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใด ๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น

3. แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ  เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำ ๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

���ระสิทธิ์.JPG

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวเพิ่มเติมว่า วัณโรคไม่ได้น้อยลง หรือไม่เคยหายไปจากประเทศไทยเลย แต่หากเป็นก็ไม่ต้องตกใจเพราะสามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งการรักษาในปัจจุบันเป็นไปอย่างดี มีโอกาสที่จะดื้อยาน้อยประมาณ ร้อยละ 2 เท่านั้น และไม่อยากให้ประชาชนทุกคนตื่นตระหนกเนื่องจากกรณีของน้ำตาล เพราะวัณโรคจำนวนหนึ่งมีอาการแสดงออกมา แต่กรณีของน้ำตาล ไม่มีอาการอะไรเลย สิ่งที่อยากแนะนำก็คือการตรวจร่างกายประจำปี ทั้งนี้การตรวจพบเชื้อวัณโรคเป็นโรคที่ไม่ได้วินิจฉัยเจอตั้งแต่เบื้องต้น จะมีการตรวจส่วนอื่นๆ ก่อน ถึงตรวจเจอวัณโรคจากชิ้นเนื้อ

สำหรับอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัณโรคไม่หลุดหายไปจากสังคมไทย นายแพทย์ ประสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะว่าทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในห้องที่ปิดมากกว่าเดิม อาคารต่างๆ ในปัจจุบันเป็นห้องแอร์ทั้งหมด ซึ่งระบบกรองอากาศแบบทั่วไป ไม่สามารถดักเชื้อวัณโรคได้ ดังนั้นการอยู่ในห้องที่ไม่ได้มีอากาศไหลเวียน เป็นอีกปัจจัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันหากเรามีภูมิต้านทานปกติดี ภูมิคุ้มกันของเราสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันการรักษาวัณโรคไม่ว่าจะเกิดขึ้นในส่วนไหนของร่างกาย ก็แทบไม่แตกต่างกันเลย การรักษาเหมือนกัน สำหรับกรณีของน้ำตาล ทีมแพทย์พยายามย้อนถามอาการต่างๆ กับครอบครัว พบว่าไม่มีอาการใดบ่งบอกว่าจะเป็นวัณโรค และยังไม่เคยพบรายงานชิ้นไหนในโลกนี้ ที่พบผู้ป่วยเป็นวัณโรคพร้อมกับอาการเลือดออกจำนวนมาก แม้กระทั่งวัณโรคในปอดบางคนไอออกมา ก็มีเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้สาเหตุเลือดออกของน้ำตาล ทีมแพทย์คาดการณ์ว่า ข้างหลังชิ้นเนื้อที่นำมาตรวจเป็นเส้นเลือด ซึ่งหากมีอาการอักเสบหรือติดเชื้อ ก็จะทำให้ผนังเส้นเลือดในบริเวณนั้นฉีดขาด หรือสลายได้ง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดออก

สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด 39 ราย โดยรายแรกในประเทศไทยพบเมื่อปี 2535 ที่ จ.กาญจนบุรี ขณะที่โรงพยาบาลศิริราช พบ 15 ราย จ.ขอนแก่น 23 ราย และเมื่อไม่นานมานี้พบผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครอีก 1 ราย ซึ่งทุกรายรักษาหายขาดทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :