ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ เผยนายกฯ เลือกผู้ว่าฯกทม.กลางปี 65 ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา คาดเลือกตั้ง 16 ม.ค. 65 ขณะที่นายกฯ สั่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบหลักเกณฑ์ขอพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้พูดเรื่องนี้ในที่ประชุม โดยย้ำว่าคงจะให้มีการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวได้ในช่วงกลางปี 2565 ส่วนจะเป็นวันไหนนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้กำหนด โดยครม.จะเป็นผู้ให้สัญญาณไปถึงกกต. แต่เวลานี้ ครม.ยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลจะสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เกิดขึ้นในกลางปี 2565 จริงๆ วิษณุ กล่าวว่า ก็พูดอย่างนี้ ส่วนจะมั่นใจหรือไม่ก็แล้วแต่ 

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร และเขตเลือกตั้งที่ 6 จ. สงขลา ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีใจความกำหนดว่าให้มีเลือกตั้งซ่อมส.ส. ส่วนจะเป็นวันใดนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งซ่อมแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งคร่าวๆว่าการเลือกตั้งดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ม.ค.2565

นายกฯ สั่งตั้งคกก.อิสระกรองรายชื่อนักโทษ-วางเกณฑ์ขออภัยโทษ เล็งให้‘เข็มชัย’เป็นหัวหน้าทีม 

วิษณุ ระบุกรณีที่มีข่าวการคัดค้านการลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมครม.ว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการการจัดชั้นนักโทษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ขณะเดียวกัน จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังเลยแม้แต่คนเดียว โดยยังมีเวลาประมาณ 4 เดือนในการทำบัญชีรายชื่อและประวัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือลดโทษ ดังนั้น เพื่อความสบายใจ หลังจากมีผู้ร้องเรียนและการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการและการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆไป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีเวลาการทำงาน ประมาณ 1 เดือน

วิษณุ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ข้อสังเกตด้วยว่าการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น รัฐบาลคงจะไม่ขอพระราชทานบ่อยครั้ง เพราะถ้าบ่อยครั้ง ก็จะเป็นการลดโทษลงไปเรื่อยๆ ซึ่งการลดโทษแต่ละครั้งคือ 1 ใน 3 ถ้าลดไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เหลือโทษไม่เท่าไหร่ ส่วนความผิดฐานใดที่จะอยู่ในเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คณะกรรมการชุดนี้จะไปทบทวนกันอีกครั้ง     

เมื่อถามว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามีใครบ้าง วิษณุ กล่าวว่า คาดว่าจะเชิญเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และอดีตอัยการสูงสุด มาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระชุดนี้ 

เมื่อถามต่อว่านายกฯ รับข้อเสนอที่มีผู้เรียกร้องว่าไม่ควรลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษให้ผู้ต้องขังคดีทุจริตใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า นายกฯรับในหลักการ โดยขอให้คณะกรรมการอิสระชุดนี้ไปช่วยดู เพราะอาจจะมีอย่างอื่นหรือมีคดีอื่นๆอีกก็ได้ 

ส่วนคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีเวลาคัดกรองหนึ่งเดือนในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เราอยากทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อให้เร็วและทันกำหนดเวลาที่จะมีการพิจารณาปล่อยนักโทษ ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะส่งให้ข้อมูลให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการต่อไป