ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มนักเรียน ผิดหวัง ปลัดกระทรวงศึกษา ตอบคำถามโรงเรียนละเมิดสิทธิ LGBTQ+ ไม่ได้ พร้อมเดินขบวนจัดแอ็กชัน จี้แก้กฎระเบียบ หยุดเลือกปฏิบัติ ขอทรงผม-แต่งกายตามเพศสภาพ

กลุ่มนักเรียนเลว นำโดย น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ 'พลอย' นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแห่งหนึ่ง และนายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่มฯ จัดกิจกรรม "ขบวน Pride นักเรียน" ภายใต้แฮชเเท็ก #เราไม่ใช่ตัวประหลาด โดยมีการตั้งแถวเดินขบวน จากถนนราชดำเนินกลาง ตรงข้ามนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จากผู้เข้าร่วมเดินขบวนเพื่อสื่อถึงข้อเรียกร้องของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ "LGBTQ+" ก่อนเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ด้านของนักเรียน "LGBTQ+" ประกอบด้วย ด้านทรงผม, ด้านเครื่องแต่งกาย, ด้านความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ LGBTQ+ และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ 

มีการร้องเพลง ลา มะลิลา ร่วมกัน ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนปัญหาและล้อเลียนระเบียบรวมทั้งทัศนคติที่ล้าหลังและการเหยียดเพศสภาพในโรงเรียน ท่อนหนึ่งร้องว่า "เครื่องแบบกำหนดเพศฉันชายหญิงเท่านั้นไม่ยอมพัฒนา" และ"พวกเรากลายเป็นโรคจิตเป็นพวกวิปริตเพราะชุดความคิดในตำรา" รวมถึง "คุณครูเหยียบฉันทำไม พ่อแม่ก็ไม่ใช่ เมื่อไหร่จะออกจากกะลา" 

นักเรียน Pride

ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ย้ำว่านักเรียน LGBT อึดอัดที่อยู่ภายใต้กรอบทางเพศที่สังคมและกระทรวงศึกษากำหนดเอาไว้ ซึ่งชัดเจนว่า นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนอีกคน ระบุถึง แบบประเมินนักเรียนหลายโรงเรียน มองว่านักเรียน LGBT แล้วเป็น "กลุ่มเสี่ยง" และเป็นคนที่มีปัญหา พร้อม "ฉีกแบบเรียนสุขศึกษา" เพราะเห็นว่าล้าสมัยและหมดประโยชน์แล้ว นอกจากนี้ ตัวแทนนักเรียนคนหนึ่ง ได้เขียนข้อความลงในเสื้อนักเรียน เป็นคำด่า คำดูถูก ที่มาจากครูและนักเรียนที่ไม่เข้าใจว่า การเป็น LGBT เป็นเรื่องปกติ

ขณะที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย้ำถึง สิทธิเสรีภาพในการแต่งกายของนักเรียนทุกคน พร้อมประกาศแสดงอัตลักษณ์ ด้วยการถอดชุดนักเรียนชาย เปลี่ยนเป็นชุดนักเรียนหญิง ซึ่งตรงตามเพศสภาพของตนเอง ระย้ำว่า "กฎระเบียบขัดหลักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ต้น" รวมถึงใช้เครื่องตัดผม (Battalion) ตัดผม ตัวเองเป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วย

ด้านนายประเสริฐ บุญเรืองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มารับหนังสือ พร้อมระบุว่า ต้องพยายามให้ทุกคนมีความสุขในสังคม แต่การปรับแก้กฎระเบียบต้องคุยกับหลายหน่วยงานและหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังทุกฝ่ายก่อน เพื่อความรอบคอบ เพราะ "ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่แก้เรื่องหนึ่ง ไปกระทบอีกเรื่องหนึ่ง" จึงรับปากไม่ได้ว่าจะเสร็จสิ้นตอนไหน แต่เห็นว่าหลายอย่างควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องทรงผม ที่ทางกระทรวงเห็นว่าล่าช้า เพราะตั้งแต่ปี 2518 ไม่เคยเปลี่ยนเรื่องทรงผมเลย โดยไม่รับปากว่าจะผลักดันเรื่องนี้สำเร็จเมื่อไหร่ ก่อนจะผละตัวออกจากกลุ่มนักเรียนขึ้นไปบนตึกกระทรวงศึกษาธิการทำให้กลุ่มนักเรียนไม่พอใจ

นักเรียน Pride

นายลภนพัฒน์ นอกจากฉีกตำราเรียนสุขศึกษาเป็นเชิงสัญลักษณ์แล้วระบุหลังจากปลัดกระทรวง ไม่รับฟังนักเรียนเท่าที่ควรว่าให้สื่อมวลชนเป็นพยานว่า ปลัดกระทรวงไม่สามารถตอบคำถามนักเรียนได้ และเดินหนีนักเรียน โดยไม่มีความชัดเจนอะไร ทั้งที่กลุ่มนักเรียนยื่นหนังสือมาหลายครั้งแล้ว และทางกระทรวงไม่เคยลงพื้นที่ื ไม่เคยประเมินโรงเรียนว่าละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ ขณะที่แบบเรียนสุขศึกษามีเนื้อหาเหยียดเพศ หลายโรงเรียนประกาศไม่รับ LGBT เข้าเรียน เพราะกลัวเสียชื่อเสียงโรงเรียน

โดยในกิจกรรมครั้งนี้มีคณาสิต พ่วงอำไพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่และอดีตหัวหน้าคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงชุมาพร แต่งเกลี้ยง โฆษกพรรคสามัญชน ในฐานะคณะทำงานภาคประชาสังคมเรื่องการสมรสเท่าเทียม เข้าสังเกตการณ์ด้วย

ชุมาพร กล่าวว่า จากรายงานของ ยูนิเซฟและองค์กรระหว่างประเทศเมื่อราวปี 5-6 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์เด็กไทยที่มีความหลากหลายทางเพศ พบการ "บุลลี่" และแรงกดดันในโรงเรียน รวมถึงกฎระเบียบที่ลงโทษนักเรียน "LGBTQ+" ให้ได้รับความอับอาย หรือหักคะแนนนักเรียนที่แต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิด ส่งผลให้มีนักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมต้องออกนอกระบบการศึกษา มีจำนวนมากคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยเห็นว่า การที่เด็กนักเรียนออกมาแสดงออกในประเด็นนี้ ก็เพื่อต้องการสื่อสารว่าต้องการสร้างพื้นที่สำหรับนักเรียนทุกคน

นักเรียน Pride

ชุมาพร ยืนยันว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจและทัศนคติของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ออกกฎระเบียบ พร้อมกับย้ำว่า แม้มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบอกว่า อยากสร้างโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กทุกคน แต่กฎระเบียบและข้อบังคับของสังคมรวมถึงในโรงเรียน ไม่ได้เปิดให้เด็กมีส่วนร่วม เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในโรงเรียนต่อคนทุกเพศสภาพ ซึ่งหากไปถาม LGBTQ+ ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะพบว่าช่วงชีวิตที่ เลวร้ายและไม่มีความสุขที่สุดคือช่วงเรียนระดับมัธยม ดังนั้น จึงอยากให้สังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาเรื่องนี้ไปมาก ทั้งให้เด็กแต่งกายได้ตามเพศสภาพหรือไม่ใช้คำนำหน้าชื่อเป็นนายและ น.ส.สำหรับนักเรียนด้วย