ไม่พบผลการค้นหา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม ที่ข้าราชการต้องประพฤติและปฏิบัติตาม 7 ข้อ พร้อมตั้งคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มีความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา

โดยพระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562" และประกาศใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นไป ซึ่งมีผลบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึง หน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ

พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องประพฤติปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรม 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย

1. ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

3. กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

4. คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

6. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

7. ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ทั้งยังกำหนดให้มี คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ที่ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน ผู้แทนองค์กรกลางบริหารงานบุคคล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการเลขานุการ 

โดยทาง ก.ม.จ. มีอำนาจหน้าที่หลายประการ เช่น เสนอและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการนำจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล ตลอดจนกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรมต่อคณะรัฐมนตรี เป็นต้น