ไม่พบผลการค้นหา
‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ดูจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่กลับมาราคาร่วงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุจากกระแสยุโรปที่พยายามจะเลิกใช้ และความไม่มีศักยภาพในการแข่งขันของไทยเอง

ถ้ามองปัญหาทางเศรษฐกิจที่แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ซบเซา’ แม้ตัวเลขและคำแถลงของรัฐบาลจะพยายามบอกว่าดูดีขึ้นก็ตาม เพราะปัญหาถ้าจริงๆ อาจไม่ได้มาจากการลงทุนขนาดใหญ่ แต่มาจากปัญหาปากท้องของคนระดับล่าง เมื่อไม่มีเงินในกระเป๋าของประชาชน เศรษฐกิจก็หมุนลำบาก

ปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องของราคาพืชผลทางเกษตรที่ดูตกต่ำมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ‘พืชเศรษฐกิจ’ ของประเทศ ที่เห็นได้ชัดคือยางพาราที่ราคาตกมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงตามมา คือปาล์มน้ำมันที่เป็นเหมือนพืชเศรษฐกิจที่จะเข้ามาแทนยางพารา ซึ่งปัจจุบันปาล์มน้ำมันก็ราคาตกต่ำมากเช่นกัน จนบางรายยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก็ขาดทุนไปก่อนแล้ว

จนมีเหตุการณ์ที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มในภาคใต้ รวมตัวเผาปาล์มประท้วงราคาที่ตกเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา ซึ่งหากมองย้อนไปการปลูกปาล์มน้ำมันที่แพร่หลายนั้นมาจากสนับสนุนของรัฐที่ได้ออก ‘แผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ใบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน’ ขยายการปลูกสวนปาล์มให้มากขึ้น โดยพื้นที่เป้าหมายหลักคือในภาคอีสาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2572 รวมทั้งเอกชนกึ่งรัฐอย่างบริษัทในเครือ ปตท.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในการผลักดันด้วย

ทำให้พื้นที่ปลูกปาล์มในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยว่าปัจจุบันมี พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้วเป็น 4.8 ล้านไร่ ซึ่งสวนมากอยู่ในภาคใต้ และเมื่อดูราคาที่เคยสูง ถึง 5.71 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงเอามากๆ สูงที่สุดในบรรดาพืชเศรษฐกิจเลยในตอนนั้น ปัจจุบันราคาลดลงมาเหลือเพียง 2.54 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นดาวร่วงในเวลาไม่กี่ปี ปัญหาส่วนหนึ่งของความตกต่ำมาจากการส่งออก

เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ผลิตปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด ซึ่งอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ถึงร้อยละ 55.1 ตามมาด้วยมาเลเซียร้อยละ 33.77 และไทยร้อยละ 3.73 จากข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์การค้า

การที่แนวโน้มโลกที่ปฎิเสธการใช้น้ำมันปาล์ม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อย่างอินเดียปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 40 สหภาพยุโรปหนึ่งในผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ลดการใช้น้ำมันปาล์มจากการแก้ไขกฎหมายทางด้านพลังงานทดแทน มีผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาเหลือ กก. ละ 19.50 บาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กก. ละ 26 บาทถือเป็นราคาน้ำมันที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

ส่วนสหภาพยุโรป (EU) ประกาศจะใช้มาตรการ ‘zero palm oil’ พยายาม เลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2020-2021 เนื่องจากมีการพบ กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat) เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ นอกจากนั้นหลายประเทศในยุโรปยังกังวลเรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่างนอร์เวย์ที่มีมติจากรัฐสภาให้ห้ามนำเข้าปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นในการผลิตเชื้อเพลิง เพราะพบว่าพื้นที่ปลูกสวนปาล์มนั้นมาจากถางทำลายป่า ซึ่งบวกกับการพยายามหันไปหาพลังงานทางเลือกมากขึ้นอย่างไฟฟ้า การทำไบโอดีเซลจึงมีความจำเป็นลดลง เป็นแนวทางให้ประเทศในสหภาพยุโรปเดินตามในการลดใช้ปาล์มน้ำมันในการผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน

แม้จะมี รายงานข่าว ประเทศอย่างมาเลเซียมีความพยายามจะปลูกสวนปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่รับรองโดยรัฐบาลแต่กับถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อเพราะราคาที่สูง

แม้ไทยจะดูมีสัดส่วนน้อยในการส่งออกเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียกับมาเลเซีย แต่ก็ยังถือว่าสูงในอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว ทำให้ปัจจุบันมีปาล์มค้างสต๊อคอยู่หลายแสนตัน และราคาที่ตกต่ำอย่างที่เห็น ซึ่งที่แย่กว่านั้นคือเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ศักยภาพของไทยในการส่งออกมีน้อยกว่า การหาตลาดใหม่เป็นเรื่องยากมาก เพราะตลาดใหญ่ของปาล์มน้ำมันไทย จะเป็นประเทศในอาเซียนด้วยกันที่ไทยได้เปรียบเรื่องระยะทางอย่าง พม่า กัมพูชา ลาว หรือจีนตอนใต้ได้

จึงการเป็นเรื่องคิดไม่ตกของรัฐบาลที่แม้จะให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือต่างๆ ไปแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคพยายามเสนอที่จะเพิ่มความต้องการในประเทศโดยใช้ธุรกิจพลังงานเข้ามาช่วย แต่ดูจะเป็นการสวนทางกลับกระแสของโลกที่เป็นอยู่ ที่จะหันออกจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซล

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือเรื่องของ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับให้ประเทศไทยต้องยกเลิกโควตาและลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มตามที่ผูกพันไว้ โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยเคยไม่ทำตามข้อตกลง AFTA โดยการจำกัดการนำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศ เพื่ออุ้มราคาผลผลิตของไทย และเมื่อการเปิดให้นำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศอย่างเสรี อย่างมาเลเซียที่มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่า ทำให้มีราคาที่ถูกว่าจะทำให้ของไทยไม่สามารถแข่งขันได้แม้แต่ในประเทศของตัวเอง

จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมากของพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาราคาที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวเอามากๆ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันกันส่งออกแต่เรื่องการแข่งขันภายในประเทศก็สำคัญพอกัน

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog