ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้พิพากษาปัดเอี่ยวสินบน 'โตโยต้า' เข้าแจ้งความกับ ปอท. เอาผิดหมิ่นประมาท Frank G. Runyeon ผู้เขียนบทความในเว็บไซต์ 'Law360' ด้านประธานศาลฎีกาสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

จากกรณีที่เว็บไซต์ law360.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายงานพิเศษ โดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนว่า ทางการสหรัฐฯ กำลังเร่งดำเนินการสอบสวนการละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA ) ของบริษัทโตโยต้า

โดยอัยการรัฐบาลกลางได้เรียกตัวคณะลูกขุนใหญ่ในรัฐเท็กซัสให้ดำเนินการหาหลักฐาน ซึ่งพบว่าผู้ผลิตรถยนต์ติดสินบนผู้พิพากษาระดับสูงของไทยเพื่อให้พลิกการตัดสินคดีภาษีมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์นั้น

ล่าสุด วันที่ 31 พ.ค. ดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกพาดพิง 2 ใน 3 คนจากการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บ law360.com ได้เดินทางมาที่กองบังคับการกองปราบปราม เพื่อเเจ้งความฐานทำให้ได้รับความเสียหายด้วยการหมิ่นประมาท โดยมีพล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป พร้อมทีมพนักงานสอบสวนทำการรับฟ้อง

ดิเรก กล่าวต่อพนักงานสอบสวนว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่รู้เรื่องอะไรเลย เเต่เมื่อมีข่าวเเละได้รับความเสียหายจึงมาเเจ้งความต่อพนักงานสอบสวน

ขณะที่ ชัยสิทธิ์กล่าวว่า ได้นำข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวที่มีการกล่าวหาพร้อมเอกสาร ซึ่งเป็นสำเนาคำพิพากษาที่ให้โตโยต้าเเพ้คดีมายื่นเป็นหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำ

ส่วนไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในส่วนของตนได้มีการมอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบเเละดำเนินคดีการเผยเเพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวแล้ว โดยยื่นเรื่องไปทางอีเมลเเละจะส่งหนังสือตามไป เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องดูเเลผู้พิพากษาที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่เเล้ว

ขณะที่ ทรงพล อันนานนท์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ซึ่งถูกพาดพิงถึงด้วยนั้นได้นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความ Frank G. Runyeon (นามปากกาเจ้าของบทความใน law360.com) โดยแจ้งพิจารณา 2 ข้อหา คือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทรงพล กล่าวว่า ตามที่ได้มีการพาดพิงสำนักงานทนายความของตนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนให้กับผู้พิพากษาระดังสูงของศาลฎีกานั้น ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าสำนักงานกฎหมายของตนทำคดีดังกล่าวในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์เเท่านั้น แต่ในชั้นศาลฎีกา สำนักงานฯ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้หลังจากที่เกิดเรื่องแล้ว สำนักงานฯ ก็ไม่มีการติดต่อไปยังผู้พิพากษาระดับสูงทั้ง 3 คนอีก

ด้านพล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวแม้เข้าข่ายเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งกองบังคับการปราบปรามสามารถสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดได้ หลังจากนั้นได้มอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเอาผิดกับเว็บไซต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้โพสต์ข่าวดังกล่าวในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาต่อไป

ก่อนหน้านี้ หลังวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า สนง.ศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหากรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ รวม 10 คน โดยมีพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่สังคมและดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ เช่น หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศสหรัฐฯ สำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น

ล่าสุด เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ.2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า ศาลยุติธรรมจะแสวงหาทุกข้อเท็จจริงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยจะทำทุกทางพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด หากพบว่าคนของศาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับใด แต่หากไม่เป็นความจริงก็จะเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของทุกท่านกลับคืนมา ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้ประชาชนยังคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันศาลยุติธรรมต่อไป

“ระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา หากผู้พิพากษาคนใดมีพฤติการณ์ทุจริต เกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเสมอ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้”