ไม่พบผลการค้นหา
ดร.ทักษิณ ชันวัตร แวะมาแลกเปลี่ยนทัศนะ รวบยอดปัญหาก่อนส่งต่อมุมมองสำคัญว่า 7 ทางรอดประเทศไทยคืออะไรบ้าง ?

ในภาวะที่เห็นชัดแล้วว่าเศรษฐกิจมีปัญหาอีกทั้งปวงประชายังตกยาก จน ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังออกมาเอ่ยปากว่า กว่าไทยจะกลับไปสู่จุดเดียวกับก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลาถึงสามปี ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียใช้เวลากันไม่ถึงสองปี และเมื่อคิดออกมาเป็นตัวเลข เรากำลังพูดถึงเม็ดเงินกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ที่อาจหายไประหว่างปี 2563-2565

แม้จะเต็มไปด้วยหลักทางเชิงตัวเลขหรือเชิงประจักษ์บนท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้

ในคลับเฮาส์ CARE คิด เคลื่อน ไทย ประจำวันที่ 17 ส.ค.2564 Tony Woodsome หรือ ดร.ทักษิณ ชันวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งแวะเวียนมาแลกเปลี่ยนทัศนะทุก ๆ สองสัปดาห์ รวบยอดปัญหาก่อนส่งต่อมุมมองสำคัญว่า “จะเดินกันต่ออย่างไรและทางรอดของไทยอยู่ไหน”


7 ทางรอดประเทศไทย 

ข้อแรก: หาวัคซีนที่มีคุณภาพ โดย ดร.ทักษิณ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ที่รัฐบาลยังเดินหน้าจะจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคท่ามกลางผลลัพธ์ที่เห็นแล้วว่าไม่เทียบเท่ากับวัคซีน mRNA เป็นเพราะเหตุใด "ทำไมไม่เอาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ รอตังค์ทอนรึเปล่า รักประชาชนหน่อย"

เท่านั้นยังไม่พอ เรื่องที่น่าประหลาดใจในมิติเดียวกันคือไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่กลับต้องไปยืมวัคซีนชนิดเดียวกันนี้จากต่างประเทศ ซึ่งอดีตนายกฯ ชี้ว่า เมื่อตั้งหน้าจะไปขอยืมวัคซีนจากต่างประเทศแล้ว เหตุใดไม่เจรจาขอยืมวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเข้ามา

ที่สำคัญ คือ ดร.ทักษิณ ตอกย้ำเรื่องการคดโกงวัคซีนไฟเซอร์ล็อตบริจาคจากสหรัฐอเมริกาให้กับบุคลากรด่านหน้า

“นี่คนนะรักเขาหน่อย คนไทยด้วยกัน”

ข้อสอง: กระจายเครื่องตรวจ Rapid Test อดีตนายกฯ หันมาพูดในเรื่องที่เชื่อมโยงกันอย่างการตรวจหาการติดเชื้อผ่าน Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งปัจจุบันระดับการตรวจยังนับว่าน้อยมาก อีกประเด็นคือ การตรวจที่เป็นตัวเลขของรัฐนั้นส่วนใหญ่เป็นการตรวจกับประชาชนผู้มีอาการ แปลว่ายังมีประชาชนอีกมากที่อาจไม่แสดงอาการของการติดเชื้อซึ่งอาจแพร่กระจายสู่คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ต้องล็อกดาวน์อยู่ด้วยกัน

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลไทยบริหารจัดการวิกฤตด้วยระบบแนวคิดแบบราชการที่ล่าช้าและเป็นตัวถ่วงของการแก้ปัญหา เมื่อการจะนำเข้า ATK เข้ามาขายให้กับประชาชนก็เป็นเรื่องยากอย่างไม่อาจเข้าใจได้

"ทำเรื่องให้ง่ายหน่อยได้ไหม ชอบทำเรื่องง่ายให้ยากจังเลย เราใช้ mentality ของระบบราชการมากเกินไป สงสารชาวบ้านเถอะ"

ข้อสาม: ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ดร.ทักษิณ ชี้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยต้องปรับปรุงด่วน เพราะไปต่อไม่ได้แล้ว ที่สำคัญคือกระทรวงฯ เองก็มีงบประมาณจากส่วนกลางที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งการเตรียมพร้อมเรื่องเตียง, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องผลิตออกซิเจน ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ

ข้อสี่: เตรียมรับนิวนอร์มอล ดร.ทักษิณ ย้ำว่า ณ จุดนี้ไทยต้องมองไปในอนาคต อย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ต้องไปอยู่ข้างหน้าเพื่อดักปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ในที่นี้ ดร.ทักษิณ ชี้ประเด็นเรื่องยาต้านโควิด-19 ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังเตรียมพร้อมจะออกขาย

"ไปเจรจา(ซื้อยา)รอเลยได้ไหม สาธารณสุขช่วยคิดหน่อยเถอะ เขาทดลองกันขั้นสุดท้ายแล้ว ไปจองมาซะ มันจะได้ไม่ลงปอด"

ข้อห้า: กระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งหนึ่งที่ ดร.ทักษิณ พูดในประเด็นเศรษฐกิจของชาติคือการล็อกดาวน์ที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งโหดร้ายต่อประชาชนมาก เพราะไม่มีการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลต้องกลับมาเปิดประเทศเพื่อให้ประชาชนลืมตาขึ้นมาจากความทุกข์ยากได้แล้ว

"คนที่เสียภาษี คนที่เป็นนักรบทางเศรษฐกิจ ทำให้เขากลับสู่สนามรบ ชดเชยเขา ให้ความรู้เขา เพื่อให้ทันสมัยขึ้น ต้องเตรียมแล้ว"

“เลิกล็อกดาวน์เถอะ ล็อกดาวน์โดยไม่พร้อมเนี่ย ไม่มีประโยชน์เลย”

ข้อหก: นายกฯ เลิกทำงานจากบ้านสักที อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของไทยคือมีนายกฯ ที่ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าปัญหาคืออะไรเพราะยังทำงานจากที่บ้านอยู่และฟังแต่รายงาน

"น้ำท่วมเชียงรายเป็นยังไง เลิกทำงานจากบ้านได้แล้ว นายกฯ ไปช่วยหน่อยเหอะ ท่านอย่าทำงานจากบ้านเลย แล้วท่านจะแก้ปัญหาได้"

ดร.ทักษิณ ยังแนะว่า การลงไปทำงานจริงและแก้ปัญหาให้ประชาชนในหลากหลายมิติยังจะช่วยเรียกคะแนนความนิยมให้กับตัว พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

"อันนี้ท่านนอนอยู่บ้าน กูไม่เห็น ก็ตายเลย"

ข้อเจ็ด: ประนีประนอม ถ้าจะให้ประเทศก้าวหน้า ดร.ทักษิณ ย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้อง 'reconcile' (ประนีประนอม) ได้แล้ว ทั้งยังเสริมข้อมูลด้วยว่าเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ ต้องการบทสนทนาที่ช่วยพัฒนาตัวเขาและคนรอบข้างให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทว่ารัฐบาลกลับไม่มีการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยตรงนี้

ดร.ทักษิณ ดึงประเด็นดังกล่าวไปพูดถึงเรื่องสถานะของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หกลายเป็นศัตรูกับประชาชนไปแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับหลักการเบื้องต้นในการทำหน้าที่รับใช้สังคม

"ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งผมยิงหมา ผมไม่ยิงนะ แล้วนี่เด็กตาดำๆ"

ดร.ทักษิณ ย้ำอีกครั้งว่าการเมืองยุคใหม่จำเป็นต้องมีทั้งหมดสามคำต่อไปนี้ คือ 'Inclusive' คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รับฟังทั้งหมด ดร.ทักษิณ ชี้ว่่า "ถ้าเป็นผมวันนี้ จะเชิญเด็กมาคุยกัน ยกมือคุยเลย ผมยอมนั่งมันทั้งวัน"

คำต่อมาคือคำว่า 'Collaborative' หรือการร่วมมือกันทุกฝ่าย ทว่าปัจจุบันนี้เรายังสร้างความแตกแยก "ยังไม่เจอคนแน่จริงที่จะรวบรวมคนมาคุยกัน" ท้ายสุดคือคำว่า 'Empowerment' ซึ่งหมายความว่า "ต้องให้ประชาชนมีน้ำยา ด้วยการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน" หากมีปัญหาก็อธิบายให้เข้าใจ โดย ดร.ทักษิณ ชี้ว่า สามคำนี้เป็นการเมืองยุคใหม่ ถ้าไม่ใช้สามตัวนี้ มันไปไม่ได้ 

"รัฐต้องประนีประนอม เลิกยุยงให้คนเกลียดกัน พอได้แล้ว"

ดร.ทักษิณ ปิดท้ายอ้างอิงคำพูดของ 'บิล เกตส์' ว่าถ้าประเทศมีทางออก โอกาสประชาชนรอดมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วันนี้คำพูดของบิล เกตส์ เคยบอกไว้ว่า ถ้าเกิดมาจนไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ถ้าตายจนเป็นความผิดของเรา ทว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังทำให้คนไม่อยากตายจน ต้องตายจนกันเยอะมาก"

"เรากำลังทำให้ คนไม่อยากตายจน ต้องตายจน"