ไม่พบผลการค้นหา
8 พ.ย.คือวันที่ รัฐประหาร 2490 ครบรอบ 72 ปี อาจกล่าวได้ว่า รัฐประหาร 2490 คือรัฐประหารที่ปิดฉากคณะราษฎรสายพลเรือน ที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำ

ด้วยการล้มรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ ที่มี “ปรีดี พนมยงค์” เป็นผู้สนับสนุนหลักอยู่เบื้องหลัง

เป็นรัฐประหารที่พลิกโฉมหน้าประชาธิปไตยไทย ที่ตั้งไข่มาตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน 

เปิดฉากให้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้กองทัพมีความเข็มแข็ง และเป็นบอนไซประชาธิปไตยไทยต่อมาในหลายทศวรรษ 

เพราะนอกจากรัฐประหาร 2490 ปิดฉากคณะราษฎรสายปรีดีไปอย่างถาวร ยังปูพรมแดงให้ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” หลังหมดอำนาจไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องหันกลับไปทำไร่ถั่วฝักยาว ที่ลำลูกกา ปทุมธานี แถมยังโดนข้อหาอาชญากรสงคราม 

การกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเป็นหนที่สองของ จอมพล ป. ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นอำนาจกองทัพ

เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันลูกน้องที่ชื่อ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เข้ามามีบทบาทในกองทัพ 

รัฐประหาร 2490 92932331170_n.jpg

(รัฐประหาร 2490 - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

กำเนิดยุคสืบทอดอำนาจในทศวรรษต่อมา 

ในงานเขียน “แผนชิงชาติไทย” ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500) ของ “สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ” อดีตนักวิชาการประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ใช้เวลาเขียน - วิจัยกว่า 5 ปีเต็ม ได้สรุปมูลเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ไว้ 3 ประการ 

ประการหนึ่ง การฟื้นตัวของฝ่ายนิยมเจ้าและขุนนางเก่า ที่อาศัยระบอบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขในการฟื้นกำลัง

ประการสอง ความแตกแยกในหมู่คณะราษฎรสายพลเรือน ระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ กับ ควง อภัยวงศ์ ที่ทำให้ควง หันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมเจ้า ขุนนาง และในที่สุดก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหัวขบวนกลุ่มอนุรักษ์นิยม 

ประการสาม วิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามที่รัฐบาลไม่อาจคลี่คลาย นำมาซึ่งความเสื่อมนิยม โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยิ่งเป็นการโหมวิกฤตทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

และยังมีปัจจัยแวดล้อมประกอบอีกบางประการที่ไม่อาจมองข้าม นอกจาก วิกฤตเศรษฐกิจหลังสงคราม

นั่น ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร และกลุ่มอนุรักษนิยมฟื้นกำลัง  

เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีนายทหารที่ไปรบจากสงครามถูกปลดเป็นทหารกองหนุน ทำให้ทหารจำนวนมากไม่มีงานทำ อีกทั้ง ระหว่างกลางทางของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ขอให้ไทย ในยุคของจอมพล ป. ยกทัพไปยึดครองเมืองเชียงตุง กับ เมืองพาน ซึ่งอยู่ในการควบคุมของอังกฤษ โดยเรียกว่าสหรัฐไทยเดิม 

เมื่อสงครามจบลงและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ขณะที่ฝ่ายไทยพลิกสถานการณ์จากฝ่ายแพ้เป็นฝ่ายชนะด้วยปฏิบัติการลับใต้ดิน โดยเสรีไทย ซึ่งรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ต้องคืนสหรัฐไทยเดิมให้กับอังกฤษ และจำเป็นต้องปลดกำลังทหารที่ดูแลกลับเมืองไทย ทว่าการเดินทางกลับมีเหตุขัดข้องหลายปัจจัย กระทั่งฝ่ายทหารมองว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลไทย

ตามบันทึกของ “พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี” หนึ่งในผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 บรรยายสภาพทหารในช่วงเวลานั้นว่า 

“หลังจากที่หัวหน้าคณะเสรีไทยได้รวมกำลังกันถล่มจอมพล ป.พิบูลสงครามลงไปแล้ว ก็มุ่งมาทลายกองทัพ ปลดทหารกองทัพพายัพโดยไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงและจัดหาพาหนะในการเดินทางกลับภูมิลำนา บรรดานายทหาร นายสิบ และพลทหารต้องเดินทางกลับเหมือนทหารแตกทัพ ต้องขายอาวุธ ขายเสื้อผ้า และขออาหาร เป็นขอทานอยู่ในสภาพทุลักทุเล นอกจากนี้ ก็เหลือเหรียญชัยสมรภูมิอันเดียวที่จะไปแสดง เชิดชูเกียรตินักรบแก่บุตรหลาน แต่ก็ถูกสั่งยกเลิกและห้ามให้ประดับ” 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2-D413-4F2B-8AD6-BE472B88C215.jpeg

(สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ถ่ายเมื่อปี 2553 ในปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว ในฐานะผู้เขียนหนังสือ แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง พ.ศ.2491-2500)

ประกอบกับบรรดาแม่ทัพนายกอง รวมถึง “จอมพล ป.” อันเป็น จุดศูนย์รวมของทหาร ถูกข้อหาอาชญากรสงคราม ต้องถูกนำไปขังคุก

ต่างจากบทบาทของเสรีไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภายหลังสงบลง นอกจากขบวนการเสรีไทยได้รับการยกย่อง ยังมีอาวุธที่ทันสมัยกว่ากองทัพบกไทย สวนทางทหารไทยซึ่งถูกลดบทบาทลง 

จุดแตกหักอีกประการ คือการเดินสวนสนามของเสรีไทย เมื่อ 25 ก.ย. 2488 บนถนนราชดำเนิน นัยของการสวนสนามดังกล่าวต้องการให้ฝ่ายพันธมิตรในสงครามประจักษ์ต่อสายตาว่า ยุทโธปกรณ์ที่เสรีไทยได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกไม่ได้สูญหายไปไหน 

แต่ในสายตากองทัพมองว่าเสรีไทยจะเป็นกองกำลังใหม่ที่แข่งกับกองทัพ ดังนั้น ความบาดหมางระหว่างกองทัพ รัฐบาลพลเรือน เดินทางบนภาวะไม่ลงรอยเรื่อยมา ผ่ายยุครัฐบาลปรีดี มาจนถึง รัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ จนมาถึงจุดแตกหักเรื่องกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 

รัฐประหาร 2490 จึงอุบัติขึ้น!!!

ความจริงข่าวลือเรื่องการรัฐประหาร 2490 มีเป็นระลอก 

แต่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ก็ไม่ได้ลงมือปราบปราม 

ขณะที่ “ปรีดี” เชื่อมั่นในตัว พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก.และ พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ว่าจะไม่ลงมือยึดอำนาจ

แต่ท่าทีของ พล.อ.อดุล แม้จะอยู่ตรงกลาง แต่ได้เตือนรัฐบาลในการประชุมนัดพิเศษที่ทำเนียบท่าช้างของ “ปรีดี” ย่านถนนพระอาทิตย์ ว่า “ถ้ารัฐบาลยังกระทำตัวเลวอยู่เช่นนี้ เมื่อเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นมา คิดว่าจะไม่ปราบปราม เพราะไม่ต้องการเอาทหารไทยไปฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง และพล.ร.ท.สินธุ์ ก็แสดงท่าทีเห็นพ้องด้วย” 

ทว่ารัฐประหาร 2490 เกิดจาก พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และทหารสายจอมพล.ป. ซึ่งการลงมือรัฐประหารเป็นไปด้วยความราบรื่น แม้จะระวังเรื่องความลับรั่วไหลกันอยู่บ้าง 

ผิน ชุณหะวัณ รัฐประหาร 2490 D-4A9D-A70A-1E4678F878F5.jpeg

(พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำรัฐประหาร 2490 - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

ในการประชุมวันที่ 6 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหารได้ให้ ร.ต.ทองคำ ยิ้มกำภู ใช้วิชาโหรตรวจดูดวงชะตาของปรีดี พล.ร.ต.ถวัลย์ พล.อ.อดุลว่าอยู่ในช่วง “ดวงตก” จึงกำหนดห้วงเวลารัฐประหารเป็นเช้าตรู่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 9 พ.ย. 2490

แต่คณะรัฐประหารเกรงว่าถ้าถ่างเวลาออกไป “ความลับ” จะรั่วไหลถึงหู ผบ.ทบ.จึงเลื่อนลงมือมาในช่วงค่ำของวันที่ 8 พ.ย. 2490

คณะรัฐประหารยึดกระทรวงกลาโหมเป็น “ฐานบัญชาการ” แล้วแบ่งสายไปจับตัวบุคคลสำคัญ เช่น จับตัว “ปรีดี” ที่พักผ่อนอยู่ในทำเนียบท่าช้าง แต่เผอิญว่า ‘ปรีดี’ ไหวตัวทัน กระโดดลงเรือแจวรับจ้างแหวกกระแสน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาหนีไปได้อย่างหวุดหวิด ทั้งที่ฝ่ายคณะรัฐประหารหมายเอาชีวิตด้วยการขนรถเกราะมายิงทำเนียบท่าช้างจนตึกเป็นรู 

ส่วน พล.ร.ต.ถวัลย์ นายกรัฐมนตรี กำลังวาดลวดลายอยู่บนเวทีลีลาศ ที่สวนอัมพร มี “พลายกระซิบ” ยื่นกระดาษสำคัญที่สุด ลับที่สุดให้เขาหนึ่งแผ่น ก่อนนายกฯ ถวัลย์จะหายตัวไปโดยทันที

จอมพล ป พิบูลสงคราม รัฐประหาร 2490 2E4-482E-9354-8C53936B8082.jpeg

(ทหารต่างอุ้มและแบก จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ หลังทราบผลว่าคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผลสำเร็จ - ภาพ เฟซบุ๊กห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

หลังการรัฐประหารสำเร็จ อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงกลาโหม “จอมพล ป.” ก็ถูกเชิญมาปรากฏตัว ท่ามกลางวงล้อมทหาร - ลูกน้องเก่า แห่แหนต้อนรับ บางช่วงถึงกับอุ้มจอมพล ป.แทบจะไม่ต้องเดินด้วยขาตนเอง ตามมาด้วย “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และข้าราชการระดับสูงกระทรวงต่างๆ

รวมถึงนายแบงก์ นักธุรกิจ คนสำคัญ โดยที่ พล.ท.ผิน ขอร้องว่าให้ประกอบกิจการไปตามปกติ 

ควง อภัยวงศ์ รัฐประหาร 523-D381-4566-AA16-1D2AD45F5723.jpeg

(ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร 2490 ให้เป็นนายกฯ สมัยที่3 - ภาพ เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

ต่อมาคณะรัฐประหารได้เชิญ“ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายกฯ และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว 

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 15 พ.ย.2490 บันทึกคำปราศรัยของ “ควง” หลังรับตำแหน่งนายกฯ ว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในเจตนาและการเสียสละของคณะรัฐประหาร ซึ่งเท่าที่ได้เห็นเป็นมาด้วยความบริสุทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำที่แสดงว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังที่ได้ปรากฏว่า คณะรัฐประหารได้พร้อมที่จะมอบการบริหารแผ่นดินให้ผู้อื่นและไม่ประสงค์ที่จะควบคุมอำนาจไว้แต่ประการใดเลย นอกจากจะรักษาความปลอดภัยในด้านทหารไว้เท่านั้น...” 

นี่คือบันทึกประวัติศาสตร์ของการเข้าร่วมขบวนรัฐประหารครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์นับจากก่อตั้งพรรคมาได้ 1 ปี

และนี่คือตำนาน 72 ปี รัฐประหาร 2490 ที่คอการเมืองไทยควรต้องศึกษาและรู้เท่าทันการเมืองไทยในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง