“ผมมองว่ามันจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสหภาพยุโรปและอาเซียน ที่จะย้ำเตือนความมุ่งมั่นในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และการยึดโยงต่อการปฏิบัติตามระเบียบระหว่างประเทศ ในระหว่างที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปกล่าวกับผู้สื่อข่าว
“นอกจากนี้พวกเรายังดีใจที่หุ้นส่วนอาเซียนของพวกเรามีความกังวลร่วมกัน ในกรณีการรุกรานของรัสเซียในยูเครน” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวบอก พร้อมกันนั้นยังกล่าวว่า ฝ่ายยุโรปเองจำเป็นต้องให้ความสนใจกับความท้าทายด้านความมั่นคงในเมียนมา คาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นมีประเด็นสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจีน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ยากลำบากระหว่างสหภาพยุโรปและจีน การเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนกลายมาเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้นำในสหภาพยุโรป
ชาร์ล ซานติอาโก ประธานขององค์กรสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) กล่าวกับสำนักข่าว DW ว่า ประเทศในเอเชียจำเป็นจะต้องถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาค โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ โดยในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของอาเซียนออกจากการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ซานติอาโกกล่าวว่า ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ยังไม่อยู่ในวาระการประชุมในครั้งนี้
“ยุโรปพยายามดำเนินความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอาเซียน โดยวางอยู่บนพื้นฐานหลายประการ ประการแรก สหภาพยุโรปกำลังมองกาแหล่งวัตถุดิบต่างๆ เช่น ลิเทียม ซึ่งอาเซียนสามารถจัดหาให้ได้ แต่ในขณะนี้การพูดคุยเกี่ยวกับการค้าใดๆ จะพุ่งเป้าไปที่การจำกัดวงอำนาจของจีนและรัสเซียเป็นหลัก” เขากล่าว
อาเซียนเป็นคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของสหภาพยุโรป เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีน โดยสินค้าที่มีการค้าขายทั้งหมดมีมูลค่ากล่า 2.16 แสนล้านยูโร (ประมาณ 7.9 พันล้านล้านบาท) ในปี 2564
สินค้าเคมี เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ด้านการคมนาคมขนส่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสหภาพยุโรปไปยังอาเซียน ในขณะที่สินค้านำเข้าได้แก่ เครื่องยนต์ อุปกรณ์ด้านการคมนาคมขนส่ง สินค้าด้านการเกษตร และเครื่องนุ่งห่ม
ทั้งสององค์การเริ่มต้นเจรจาเขตการค้าเสรีในปี 2550 แต่เปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยในระดับทวิภาคีแทน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่าการค้าเชิงทวิภาคีเช่นนี้สามารถกลายมาเป็นพื้นฐานของข้อตกลงระดับพหุภาคีระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนในอนาคตได้
สหภาพยุโรปเริ่มต้นการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียในปี 2553 เวียดนามในปี 2555 ฟิลิปปินส์ในปี 2558 อินโดนีเซียในปี 2559 และไทยในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในขณะที่ข้อตกลงต่อสิงคโปร์และเวียดนามได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงไปแล้ว ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ สหภาพยุโรปมีความตั้งใจที่จะพูดคุยกับไทย และรัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ส่วนการเจรจาในทำนองเดียวกันต่ออินโดนีเซียจะเกิดขึ้นแบบทวิภาคี
“อาเซียนกำลังจะกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในอีก 4 ถึง 5 ปี ข้างหน้า และจะมีโอกาสและศักยภาพมากมาย เราจึงต้องการที่จะเจรจาการค้าแบบทวิภาคีให้เสร็จสิ้น มันสำคัญกับพวกเราด้วยที่จะหาช่องทางทำให้ห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานของเรามีความหลากหลายมากขึ้น” เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปกล่าวกับผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเสริมอีกว่า อัวร์ซูลา ฟ็อน เดอร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีความตั้งใจที่จะผลักดันชุดการลงทุนเพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทน การคมนาคม ธุรกิจในภาคดิจิตัล และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอาเซียนด้วย
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Frontline Defenders ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างการประชุมด้วย ทั้งนี้ การรัฐประหารในเมียนมาและการผ่านกฎหมายในอินโดนีเซียที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นความผิดทางกฎหมาย กลายเป็น 2 ข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ซานติอาโกกล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยยังไม่ใช่ความสำคัญลำดับต้นๆ ในการประชุมที่มีประเด็นการค้าและเศรษฐกิจอยู่ในวาระ
“ไม่ว่าจะสำหรับอาเซียนหรือยุโรปก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันที่จำเป็นต้องป้องกันอิทธิพลของจีนจากอาเซียน และลดการพึ่งพารัสเซียในสหภาพยุโรปลง การเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการเชื่อมโยงจะเป็นวาระสำคัญสำหรับทั้ง 2 องค์กรที่ต้องให้ความสนใจ”
“แต่สำหรับกรณีของเมียนมา ผมได้พูดคุยกับคณะกรรมาธิการยุโรป การพุ่งประเด็นไปที่เมียนมาและอนาคตของประเทศในอาเซียนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะถูกพูดคุยในการประชุม และไม่ว่าผลของการประชุมจะพาไปสู่การเจริญความสัมพันธ์ทางการค้ากับเมียนมาต่อไปหรือไม่ ก็ยังเป็นที่ไม่ทราบแน่ชัด” ซานติอาโกกล่าว
ที่มา: