ไม่พบผลการค้นหา
หลายคนอาจยังไม่คุ้นหน้า ‘หวง หย่ง ผิง (Huang Yong Ping)’ ศิลปินอาว็องการ์ดมากความสามารถ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 70 ศิลปินชั้นนำของโลก ที่จะเดินทางมาร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งแรกของประเทศไทย

ตลอด 3 ทศวรรษ ผลงานศิลปะของหวงกระจายตัวอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกทั้งในลอนดอน ออสโลว์ โตเกียว เซี่ยงไฮ้ เยรูซาเลม นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และหากลองมองย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2015 เขาก็เคยมาจัดแสดงนิทรรศการ ‘สนามตรึก - Imply Reply’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินไทยรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ แล้วครั้งหนึ่ง โดยเลือกสะท้อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์สังคม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา

แม้จะอายุ 63 ปีแล้ว แต่หวงยังคงสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ที่ล้ำสมัย และมีขนาดใหญ่เกินขอบเขตของศิลปะในแบบที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน นอกจากนั้น เขายังไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามกับสังคมด้วยมุมมองหลักแหลม จนทำให้ผู้ชมประหลาดใจเสมอกับวิธีคิดอันเป็นปัจเจกต่อเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และสุนทรียะ ส่งผลให้เขากลายเป็นขาประจำของเทศกาลศิลปะชื่อดังที่ใคร ๆ ต่างอยากได้ตัว


image-2.jpg

บ้านเกิดของหวงอยู่ที่เมืองเซี๊ยะเหมิน จังหวัดชายแดนทางตอนใต้ของจีน และเขาถูกจดจำในฐานะผู้ก่อตั้งเซี๊ยะเหมิน ดาดา (Xiamen Dada) ซึ่งเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวด้านศิลปะของศิลปินหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในยุค 80s ที่กรุยทางไปสู่การปฏิวัติวงการศิลปะจีนด้วยการสร้างสรรค์ผลงานต่อต้านสังคม และฉีกจากกฎเกณฑ์ความงามของศิลปะ เพื่อค้นหาตัวตนทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ผ่านการประสานแนวคิดแบบตะวันตก โดยแนวคิดดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลต่อผลงานของเขาจวบจนปัจจุบัน

“ก่อนจะออกมาเป็นเซี๊ยะเหมิน ดาดา ผมมีความรู้สึกว่า เมื่อเปรียบเทียบศิลปะของประเทศจีนกับนานาประเทศแล้ว ประเทศจีนตามหลังประเทศอื่นอยู่ประมาณ 70 ปี และผมพยายามที่จะวิ่งตามศิลปะของประเทศอื่นให้ทัน มันเลยทำให้ผมคิดหาหนทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะพัฒนาศิลปะของประเทศให้เร็วที่สุด เพราะถ้าประเทศจะพัฒนาศิลปะก็ต้องพัฒนาไปด้วย” หวงแบ่งปันประสบการณ์บนเส้นทางศิลปะ


HYP-01.jpg

ภายหลังจากร่วมแสดงผลงานศิลปะเซี๊ยะเหมิน ดาดา ในปี 1986 หวงตัดสินใจเผาผลงานของตัวเองให้กลายเป็นขี้เถ้าด้วยความคิดที่ว่า ศิลปะไม่สามารถแยกขาดออกจากตัวศิลปินได้ ดังนั้นหากไม่เผาผลงานทิ้งก็จะไม่สามารถก้าวผ่านจุดเดิมของตัวเองไปได้ จึงต้องทำให้เหมือนกับการตายแล้วเกิดใหม่ เพื่อเป็นการมอบอิสระภาพกับตัวเอง ปลดปล่อยสิ่งเก่า ๆ ออกไป แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง


HY-01.jpg

ต่อมาเส้นทางชีวิตศิลปินของหวงเริ่มชัดเจนขึ้นตอนเขาอายุ 35 ปี เมื่อมีการปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเขาตัดสินใจเดินทางไปกรุงปารีส เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยรุ่นบุกเบิกอย่าง นักมายากลแห่งผืนพิภพ (Magiciens de la Terre) พร้อมกับแสดงผลงาน ‘Two-Minute Wash Cycle’ ซึ่งเป็นการนำหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะจีน และหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ไปปั่นรวมกันในเครื่องซักผ้าเป็นเวลานาน 2 นาที จนเกิดเป็นกองเยื่อกระดาษที่สะท้อนให้เห็นการหลอมรวมทางวัฒนธรรม จัดแสดง ณ ศูนย์ศิลปะฌอร์ฌ ปงปีดู (Centre Georges-Pompidou) และหลังจากนั้นหวงจึงตัดสินใจพักพิงที่ฝรั่งเศสเรื่อยมา เพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงานของบรรดาศิลปิน


art-huang-yong-ping-theater-of-the-world-01.jpg

ในปี 1993 ผลงาน ‘Theater of the World’ ของเขาถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ (Solomon R. Guggenheim Museum) นิวยอร์ก เป็นผลงานศิลปะสะท้อนภาพสัตว์เล็กกินสัตว์ใหญ่ โดยภายในโครงสร้างไม้เต็มไปด้วยแมลงสาบ แมงมุม จิ้งจก ตั๊กแตน คางคก เปรียบให้เห็นการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ที่คนมีอำนาจมากกว่ามักจะคอยกัดกินคนมีอำนาจน้อย ทว่ากลุ่มต่อต้านกลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม


H-02-01.jpg

พอมาปี 1999 ผลงานประติมากรรม ‘One Man, Nine Animals’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล (Venice Biennale) โดยหวงต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์โลก จึงหยิบ 9 สัตว์ประหลาดในตำนานของจีนมาเป็นตัวแทน อาทิ งูสองหางเป็นตัวแทนของภัยแล้ง หมูป่ากับศีรษะมนุษย์เป็นตัวแทนของน้ำท่วม และนกอินทรีกับกรงเล็บเป็นตัวแทนของโรคระบาด


HY-02-01.jpg

ปี 2000 หวงกลับมาประเทศจีนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน และสร้างผลงาน ‘Bank of Sand’ ธนาคารจำลองจากทรายกว่า 20 ตัน เพื่อล้อเลียนธนาคารแห่งแรกในเซียงไฮ้ และอาคารของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยเปรียบเทียบทรายเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาจทรุดตัวลงทันตาเมื่อไรก็ได้


H-01.jpg

การเชื่อมโยงศิลปะ ชีวิต และการเมืองเข้าด้วยกัน ทำให้ในปี 2011 หวงสร้างสรรค์ผลงานชื่อ ‘Leviathanation’ ซึ่งมาจากการผสมกันของคำว่า ‘Leviathan’ อสุรกายร้ายใต้ทะเล และคำว่า ‘Nation’ ประเทศชาติ โดยงานเป็นเหมือนกับรถไฟหรูของประธานาธิบดี เหมา เจ๋อ ตุง ทว่าหัวเป็นอสุรกายขนาดใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นพลังอำนาจของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ


HYP1-0-01.jpg

ผลงานที่ทำให้โลกตะลึงในปี 2012 อย่าง ‘Serpent d’Océan’ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลัวร์ริมสะพานแซ็ง-นาแซร์ เป็นโครงกระดูกของสัตว์ในตำนานยาว 130 เมตร สร้างจากอลูมิเนียม หากมองจากด้านบนจะเห็นความงดงามของโครงกระดูกคดเคี้ยวอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปินที่กำลังจะถีบตัวเองขึ้นมา


Monumenta-2016-Huang-Yong-Ping-Empire-uberaura.jpg-01.jpg

ปิดท้ายด้วย ‘Empires’ ผลงานโดดเด่นประจำปี 2016 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ ณ แกรนด์พาเลซ ใจกลางกรุงปารีส ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 13,000 ตารางเมตร โดยโครงสร้างหลักของผลงานเป็นอลูมิเนียมยาว 250 เมตร มาพร้อมหมวกนโปเลียน และรายล้อมด้วยคอนเทนเนอร์สีสันสดใสจำนวน 350 ตู้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจทางการเมืองของจักรพรรดินโปเลียน และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งหมดเป็นแค่เพียงน้ำจิ้มเท่านั้น เพราะล่าสุดหวงเป็นศิลปินต่างชาติคนแรกที่เดินทางมาเตรียมความพร้อมในการร่วมแสดงผลงานในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งแรกของประเทศไทย ใครสนใจติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/Bkkartbiennale หรือ www.bkkartbiennale.com


ขอบคุณข้อภาพจาก

The Walker Art Center / Uber Aura / Jean-Pierre Dalbéra / Curiator.com