ไม่พบผลการค้นหา
เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นเตรียมฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับหญิงบำเรอสงคราม แม้ก่อนหน้านี้จะตัดสินใจยกเลิกการฉายภาพยนตร์เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Shusenjo: The Main Battleground of the Comfort Women Issue ของผู้กำกับมิกิ เดซะกิ เกี่ยวกับหญิงบำเรอสงครามสำหรับกองทัพญี่ปุ่น มีกำหนดการฉายในวันนี้ (4 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานเทศกาลภาพยนตร์คะวะซะกิ ชินยุริของญี่ปุ่น แม้ก่อนหน้านี้จะประกาศยกเลิกการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้วก็ตาม โดยผู้จัดงานระบุว่า พวกเขาตัดสินใจกลับมาฉายสารคดีเรื่องนี้อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า มีหลายฝ่ายเสนอช่วยขจัดความกังวลเรื่องความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์คะวะซะกิที่ประกาศยกเลิกการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ถึงขั้นบริษัทวะคะมัตสึ โปรดักชั่น ตัดสินใจถอนตัวไม่ให้ฉายภาพยนตร์ 2 เรื่องของตัวเองในงานเทศกาลเพื่อประท้วงการงดฉายสารคดีเกี่ยวกับหญิงบำเรอสงคราม โดยระบุว่า การยกเลิกฉายภาพยนตร์เรื่องชุเซนโจะถือเป็นการ “ฆาตกรรมเสรีภาพในการแสดงออก”

ด้านคนที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลกรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ชดใช้ค่าเสียหาย และสั่งห้ามไม่ให้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง ชุเซนโจะ โดยอ้างว่า พวกเขาเข้าใจว่าการสัมภาษณ์พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัย ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ฉายเชิงพาณิชย์

ปมเรื่องหญิงบำเรอสงครามสร้างความบาดหมางให้กับญี่ปุ่นและเพื่อนบ้านเอเชียอีกหลายประเทศ มีการประเมินว่า ทั่วเอเชียน่าจะมีหญิงบำเรอสงครามที่ถูกบังคับให้เป็นทาสกามารมณ์ของทหารญี่ปุ่นอยู่ในสถานค้าประเวณีประมาณ 200,000 คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจำนวนนี้ ส่วนมากเป็นชาวเกาหลี รวมถึง จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน 

อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นชาตินิยมปฏิเสธว่าผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ถูกหลอกให้ไปเป็นหญิงบำเรอสงครามแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานเอกสารใดบ่งบอกว่ากองทัพญี่ปุ่นสั่งให้มีการบังคับผู้หญิงให้มาเป็นโสเภณีโดยไม่สมัครใจ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นระบุว่า สนธิสัญญาปี 1965 ว่าด้วยเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ระบุว่า ญี่ปุ่นจะช่วยเหลือด้านการเงินให้เกาหลีใต้แลกกับการยุติความขัดแย้งระหว่างกันในเรื่องนี้ และในปี 2015 ญี่ปุ่นยังลงนามข้อตกลงกับเกาหลีใต้เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือหญิงบำเรอสงครามเกาหลีใต้ แต่ชาวเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลทำข้อตกลงกับญี่ปุ่นโดยไม่ได้ปรึกษากับหญิงบำเรอสงครามเสียก่อน

https://lh4.googleusercontent.com/VIrUn21t81nHMd55ZoAT7crwb0ZG3LDOIvTPJ2HTaJxARBqXitaozDYMyq1OKoPCiiMriE57bwVG6e285OdFOC9rjO923dmRLrASUTtOGDmHKPq2jztpHzw_q9m9zHTv-kpH-vpr

ที่มา : BBC, Asahi, Japan Times