ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่อินสตาแกรมของ 'ซอลต์เบ' เต็มไปด้วยความหรูหราและคนดังเดินทางมาเยือนร้านอาหาร ทว่า 'เจ้าของร้านตัวจริง' กลับกำลังกุมขมับกับหนี้สินมหาศาลและโควิด-19 ที่บั่นทอนให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม

'นูสเรต โกเช' คือชายผู้ครองฉายา 'ซอลต์เบ' ที่ไม่ได้มีดีแค่การปรุงเนื้อรสเลิศ แต่ยังรวมไปถึงทักษะการเสริฟและนำเสนออาหารจานต่างๆ ที่เชฟคนอื่นไม่อาจเทียบเคียงได้

ความโด่งดังเป็นไวรัลไปทั่วโลกที่เกิดจากคลิปโรยเกลือบนอินสตาแกรมเมื่อ 7 ม.ค. 2560 ทำให้ศิลปิน-ดารา รวมไปถึงผู้มีชื่อเสียงและนักธุรกิจทั่วโลกจองตั๋วไปเยือนร้าน 'นูสเรต' ของเขาไม่ขาดสาย ณ ดินแดนอันเป็นจุดประสานระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปอย่างตุรกี  

ผู้มีชื่อเสียงที่เดินทางมาชิ้นเนื้อรสเลิศนี้มีทั้ง 'ดิเอโก มาราโดนา' อดีตนักฟุตบอลชาวอาร์เจนตินาผู้ยิ่งใหญ่ที่เพิ่งจากโลกนี้ไปเมื่อ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา 'ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ' นักแสดงชื่อดัง หรือแม้กระทั่ง 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย 

noname.png
  • ภาพจากอินสตาแกรมของ 'นูสเรต โกเช'

จ่ายไม่ไหว : หนี้พุ่ง-เงินร่วง

แม้กิจการร้านอาหารนูสเรตดูจะดำเนินไปได้ด้วยดี อีกทั้งอินสตาแกรมของซอลต์เบยังเต็มไปด้วยผู้มีชื่อเสียงที่เดินทางมาลิ้มรสอาหารของเขาอย่างต่อเนื่อง ทว่าแท้จริงแล้ว เจ้าของเครือร้านอาหาร 'ตัวจริง' กำลังประสบภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวด้วยมูลค่าราว 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 156,000 ล้านบาท 

ด้วยภาพจำของ 'ซอลต์เบ' โดดเด่นเสียยิ่งกว่าร้านอาหารที่ตั้งตามชื่อของเขา จึงไม่แปลกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะคิดว่า 'นูสเรต โกเช' คือเจ้าร้านอาหาร อย่างไรก็ดี หากเปิดไทมไลน์นับตั้งแต่เปิดร้านมานั้น ปัจจุบันเจ้าของร้านนูสเรตได้เปลี่ยนมือแล้ว

หลังซอลต์เบเปิดร้านในปี 2553 ไม่นานหลังจากนั้น 'เฟริต ซาเฮงค์' ประธานกลุ่มบริษัทโดกัสของตุรกี ได้มาลิ้มลองอาหารจนติดใจและตัดสินใจให้เงินลงทุนขยายกิจการไปยังหลายประเทศ และกลายมาเป็นเจ้าของกิจการในฐานะผู้ลงทุนตัวจริง ขณะที่ 'ซอลต์เบ' ซึ่งยังดูแลร้านอาหารและเสมือนเป็นนักประชาสัมพันธ์คนสำคัญดำรงตำแหน่ง 'ผู้ก่อตั้ง' อย่างเป็นทางการ

สำหรับประธานกลุ่มบริษัทโดกัสของตุรกี มีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท และยังเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในตุรกี

 ซอลต์เบ  - รอยเตอร์ส

ปัญหาหนี้สินของบริษัทโดกัสเกิดขึ้น เมื่อสกุลเงินลีราตุรกีด้วยค่าลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 จนนำไปสู่วิกฤตค่าเงินที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มธุรกิจที่กู้ยืมเงิน นับเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ของไทย ในเชิงการเงินนั้น เมื่อสกุลเงินด้อยค่าลง ธุรกิจที่ไปกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาจะมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับโดกัสที่เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันขึ้นมาเป็น 23,400 ล้านลีราตุรกี ณ สิ้นปี 2561 จากปีก่อนหน้าที่มีตัวเลขราว 19,600 ล้านลีราตุรกี ทำให้บริษัทขาดทุนมากกว่าเดิม

ซ้ำร้าย แม้บริษัทจะหาทางประนอมหนี้และขายทรัพย์สินจำนวนไม่น้อยออกไปได้บ้างแล้ว แต่ยังต้องมาประสบปัญหากับวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่องในปีนี้ จนหลายฝ่ายมองว่าบริษัทอาจไม่สามารถจ่ายหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างแล้ว ได้อย่างที่ตกลงไว้

ปัจจุบันเครือโดกัสทำธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์, ก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, ท่องเที่ยว, พลังงาน, สื่อ, อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการลงทุนและวงการค้าปลีก 

อ้างอิง; Bloomberg, CNBC, Aljazeera, Forbes, Vice, Verdict