ไม่พบผลการค้นหา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ 2 รายการล่าสุด ได้แก่ มะพร้าวทับสะแก ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และข้าวไร่ดอกข่าพังงา ของ จ.พังงา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เร่งดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน รวมทั้งเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น และมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าคุณภาพสูงซึ่งเป็นของดี ของแท้ ของหายากที่มาจากท้องถิ่น

181891.jpg
  • มะพร้าวทับสะแก

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวทับสะแก ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และข้าวไร่ดอกข่าพังงา ของจ.พังงา ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 118 รายการ จาก 75 จังหวัด โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังมีสินค้าอีก 3 รายการที่อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอ ได้แก่ ข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมทองปทุม และกลองเอกราช จังหวัดอ่างทอง

181932.jpg
  • ข้าวไร่ดอกข่าพังงา

สำหรับสินค้า GI 2 รายการล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ "มะพร้าวทับสะแก" มีผลขนาดใหญ่ เปลือกหนา เนื้อมะพร้าวสีขาวหนา 2 ชั้นให้เปอร์เซ็นน้ำมันสูง รสชาติ (กะทิ) หอมและมัน ส่วน "ข้าวไร่ดอกข่าพังงา" เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่มีสีน้ำตาลแดงอมม่วง สีแดง หรือสีแดงแกมขาว เมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย หุงขึ้นหม้อ ไม่แข็ง รสชาติอร่อย 

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าในสินค้าชุมชนนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการให้สินค้า GI พัฒนาไปสู่ตลาดและผู้บริโภคที่แพร่หลาย เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ที่มีความหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรกรรม หัตถกรรม และอุตสาหกรรม (เกษตรแปรรูป) ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น และการร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อนำสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาที่อื่นไม่ได้ ไปสู่สินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่า โดยตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมสินค้า GI ไปสู่กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่ากลุ่มสินค้าที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์ การยื่นจดทะเบียนคุ้มครองในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน สหภาพยุโรป และประเทศอินเดีย และเพิ่มเติมการจัดทำระบบควบคุมสินค้า GI ให้เข้มข้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป