ไม่พบผลการค้นหา
"นักวิชาการ คนส." ชี้คนไทยเผยตัวตนชัดเจนแล้วอยู่ฝ่ายใด ไม่มีพลังเงียบเป็นตัวแปร การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคืออันตรายที่รออยู่ พรรคขนาดกลางและเล็กมีอิทธิพลสูง

ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุน คสช. และอีก 2 ฝ่ายที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ตัวแปรในการตั้งรัฐบาลจึงได้ไม่ใช่ 2 ฝ่ายใน 3 ฝ่ายที่จับมือกันได้ แต่จะเป็นพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กที่จะมีอิทธิพลในการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งสังคมจึงมีอิทธิพลในแง่ของการชี้แนะ แสดงความเห็น โน้มน้าวให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กไปอยู่กับฝ่ายใด 

อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงไม่ได้สะท้อนความเห็นของประชาชนและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง การสะท้อนความเห็นของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับกระแสสังคม ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนที่จะออกมาแสดงความเห็น อย่างไรก็ตามมองว่ามีแนวโน้มอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือการตั้งรัฐบาลที่ทำได้ยากลำบาก การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูปการเมือง การทำให้การเมืองเดินไปข้างหน้าได้ รวมถึงแก้ปัญหาขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ผศ.ดร.สามชาย เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความหวังของสังคมไทย เพราะทุกคนรู้สึกถึงการสูญเสียสิทธิไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูญเสียสิทธิการมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ สูญเสียสิทธิการมีปากเสียงแสดงความต้องการว่าประเทศชาติควรไปในทิศทางใด เกิดความรู้สึกว่าประเทศถูกปิดกั้น ถูกคนที่ไม่ได้เลือกมาทำหน้าที่แทน จึงเกิดวาทะกรรมใช้ปากกาไล่เผด็จการ เกิดพลังการเรียกร้องสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ใช้การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ

ทั้งนี้เชื่อว่าในวันที่ 24 มี.ค. นี้จะมีประชาชนทั้งประเทศออกมาใช้สิทธิ์เกินร้อยละ 80 โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะออกมาใชสิทธิ์ถึงร้อยละ 70 ส่วนกรณีของพลังเงียบนั้น ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าพลังเงียบคือคนกลุ่มใด เพราะมองไม่เห็นพลังเงียบแล้ว เนื่องจากทุกคนปรากฎตัวอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ประเทศไปทิศทางไหน ชัดเจนว่าใครอยู่ฝ่ายใด ไม่มีตัวแปรใดที่จะมาทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงแล้ว

ผศ.ดร.สามชาย ยังเรียกร้องให้ กกต.เตรียมตัวรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งส่วนตัวเห็นใจกรรมการ กกต.ทั้ง 7 คน เพราะแต่ละคนไม่มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาก่อน ทั้งนี้หาก กกต.ทำตามกฎหมาย ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง จะเกิดปลอดภัยกับตัวของ กกต.เอง โดยให้ดูบทเรียนที่เกิดขึ้นกับ กกต.ชุดที่ผ่านมาหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับตัว กกต.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง