ไม่พบผลการค้นหา
เตือนเฝ้าระวังแม่น้ำตาปี ปากพนัง แม่น้ำตรัง ระดับน้ำสูงใน 2 – 3 วันนี้ย้ำทุกหน่วยเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วม พร้อมแจงรัฐเร่งเดินหน้าโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ล่าสุดขณะนี้ว่า ในหลายจังหวัดระดับน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากฝนจะลดลงต่อเนื่องไป 1 สัปดาห์ ประกอบกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนไม่กระทบต่อการระบายน้ำเช่นกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือเร่งระบายน้ำให้ลดลงโดยเร็วที่สุด โดยก่อนจะมีฝนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 12-14 ธ.ค.ตั้งแต่ จ.สุราษฏร์ธานีลงไป 

สมเกียรติ กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จะติดตามประเมินปริมาณฝนในช่วงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งสัญญาณความเสี่ยงที่อาจจะเกิดซ้ำในพื้นที่ท่วมเดิมได้ โดยยังคงต้องเฝ้าระวังจนถึงต้นปีหน้าด้วย พร้อมจะเน้นย้ำการเชื่อมต่อข้อมูลการเตือนภัยให้เข้าถึงหน่วยงานระดับพื้นที่ เพื่อสื่อสารตรงกับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเฉพาะจุดต่อไป ซึ่งระยะ 2 – 3 วันนี้จุดที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปที่ปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากตอนบนไหลลงมารวมกัน คือ บริเวณแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และแม่น้ำตรัง จ.ตรัง  

สมเกียรติ กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดฝนหนักต่อเนื่องได้อีก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กอนช.ติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้าจากการวิเคราะห์แนวโน้มฝน เพื่อส่งสัญญาณถึงหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า รวมถึงเน้นย้ำกลไกการแจ้งเตือนประชาชนรับทราบให้เข้าถึงพื้นที่มากขึ้น มีการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยการเก็บกักน้ำชะลอน้ำหลากในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งแก้มลิงที่มีอยู่ หรืออ่างเก็บน้ำในทุกขนาด เช่น เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,900 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนบางลาง จ.ยะลา สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงลดการระบายน้ำจากอ่างฯขนาดกลางไม่ให้ไหลมาสมทบในพื้นที่ตอนล่างด้วย 

"สทนช.ได้ทำหนังสือถึงหน่วยต่าง ๆ สำรวจโครงสร้างที่เกี่ยวกับด้านน้ำที่ได้รับผลกระทบและเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณทำแผนฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาพร้อมใช้งานโดยเร็ว ไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการในช่วงฤดูฝนนี้ของภาคใต้" สมเกียรติ กล่าว  

สำหรับแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เพื่อให้มือเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากนั้นทั้งการเร่งแผนงานโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช เป็นการขุดคลองระบายน้ำใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมเป็น 750 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการแต่มีความล่าช้า เนื่องจากองค์ประกอบบางส่วนต้องมีการทำความเข้าใจกับราษฎรเพิ่มเติม เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปากพนัง การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ขณะที่แผนงานที่ดำเนินการได้ในปี 2564-2566 จำนวน 63 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก จ.สุราษฎร์ธานี แก้มลิงฉลุง จ.สงขลา ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทลุง สงขลา ตรัง และ ยะลา และมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ขุดคลองผันน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) ให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองชุมพรเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 

ขณะเดียวกัน ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน จำนวน 115 แห่ง โดยเร็วจากทั้งหมด ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จแล้วทั้งสิ้น 66 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 แห่ง ตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง และสร้างการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการน้ำ เสนอแผนแก้ไขปัญหาน้ำผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามพรบ.น้ำฯ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งไม่ได้มีแค่หน่วยราชการ แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่โดยเท้จริง