ไม่พบผลการค้นหา
"ม.ร.ว.จัตุมงคล" สั่งหน่วยงานในสังกัดติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือสิทธิประโยชน์แรงงานประมงไทยที่กลับจากการทำประมงที่ประเทศโซมาเลีย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานประมงไทยที่กลับจากการทำประมงที่ประเทศโซมาเลีย ว่า จากกรณีที่ลูกเรือประมงไทยจำนวน 32 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกลอยแพในระหว่าง การทำประมงที่ประเทศโซมาเลีย และได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อเดือน ส.ค. 2562 โดยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ซึ่งลูกเรือทั้งหมดได้แจ้งความประสงค์ให้กระทรวงแรงงานติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างชาวอิหร่านและชาวโซมาเลีย เนื่องจากมีการเดินทางไปทำงานในน่านน้ำอิหร่านก่อนเดินทางไปทำการประมงในน่านน้ำโซมาเลียและเกิดเหตุถูกลอยแพ

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อว่า ล่าสุดกระทรวงแรงงาน โดยสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ประกอบด้วยสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ (S R Law) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้ร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานประมงดังกล่าว 

โดยการลงพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของกลุ่มแรงงานในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ เพื่อติดตามข้อเท็จจริงและเก็บรวบรวมหลักฐานการจ้างและพบว่า นายจ้างต่างชาติทั้งสองสัญชาติต่างมีตัวแทนที่เป็นคนไทยคอยดำเนินการติดต่อกลุ่มคนงาน ทั้งการรวบรวมคนเพื่อไปทำงาน ดูแลเรื่องการเดินทาง การจ่ายเงินเดือน การแบ่งประโยชน์จากการจำหน่ายปลาและอื่นๆ รวมทั้งการลงนามในสัญญาจ้างบางฉบับแทนนายจ้าง และข้อมูลจาก สนร. ณ กรุงอาบูดาบี ซึ่งได้มีการติดต่อสอบถามนายจ้างชาวอิหร่านและชาวโซมาเลีย แจ้งว่า นายจ้างยืนยันว่าได้จ่ายค่าจ้างผ่านตัวแทนคนไทยดังกล่าวมาโดยตลอดโดยไม่มีการติดค้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ที่เก็บรวบรวมจากกลุ่มแรงงานประมงดังกล่าว ขณะนี้ ตัวแทนนายจ้างซึ่งเป็นคนไทยถูกฟ้องใน 2 ข้อหาคือ ข้อหาแรก จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและข้อหาที่ 2 การค้างจ่ายค่าจ้างลูกเรือประมงจำนวน 26 คน (ที่ลงชื่อในคำร้อง) รวมประมาณ 6.5 ล้านบาท ซึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา มีแรงงานประมงไทยกลุ่มเดียวกัน ร่วมลงชื่อเป็นผู้ร้องเพิ่มอีก 3 คน รวมเป็น 29 คน อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ดังกล่าวข้างต้นจะได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ของแรงงานประมงไทยทั้งหมดให้ประสบความสำเร็จต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง