ไม่พบผลการค้นหา
ชาวเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ครวญเผชิญวิกฤตแล้งซ้ำซาก สถานศึกษา-สถานพยาบาล กระทบหนัก ต้องใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ด้าน กรมชลประทาน เร่งรัดดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบโครงการ 'อ่างเก็บน้ำน้ำรี'

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่สำรวจโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำรี อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในฤดูฝน ว่า โครงการนี้เกิดจากแนวคิดพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระดำริ เมื่อที่ 8 มี.ค. 2560 โดยให้กรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกันดำเนินการพิจารณาจัดหาน้ำให้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อให้มีน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนและโรงพยาบาลให้เพียงพอตลอดปี รวมถึงประชาชนในพื้นที่

IMG_1486.JPG
  • เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำรวมถึงน้ำไม่สะอาด และฤดูฝนจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ซ้ำซาก ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน หากมีผลักดันได้สำเร็จจะมีการนำน้ำที่ผ่านการคัดกรองที่ถูกสุขลักษณะมาเติมเต็ม ด้วยการกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วน

สำหรับโครงการดังกล่าว มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 46.09 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 22,100 ไร่ ใน 3 พื้นที่ประกอบไป ด้วย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง และอ.เชียงกลาง จ.น่าน ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาในส่วนพื้นที่ทับซ้อนนั้น จะมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 66 ราย มีการประเมินมูลค่าการเยียวยา 150 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณค่าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้รองอธิบดีกรมชลประทาน คาดว่าหากการยื่นขออนุญาตเสร็จสิ้น ปี 2564 จะเริ่มมีการออกแบบโครงสร้าง สำหรับการใช้พื้นที่ป่าไม้ทางกรมชลประทานจะดำเนินการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 3 เท่าเพื่อฟื้นฟูทดแทน และในอนาคตอาจส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการเพาะพันธุ์ปลาจากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้วยความร่วมมือจากกรมประมง 

เสียงจากผู้ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์

สำราญ อินทานะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องประสบปัญหาน้ำใช้ที่ไม่พอเพียงและไม่สะอาด จนต้องซื้อน้ำใช้ โดยพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ไม่มีการประปาส่วนภูมิภาค หรือ กปภ. ทำให้ความเดือดร้อนขยายแทบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา หรือสถานพยาบาล โดยต้องใช้น้ำดิบที่ไม่ผ่านระบบคัดกรอง 

IMG_1402.JPG
  • ภาพคราบน้ำมันจากเหตุพลิกคว่ำ

อย่างไรก็ตาม มีเพียงโรงพยาบาลเท่านั้นที่มีเครื่องกรองน้ำ ส่วนชาวบ้านนั้นก็ต้องหาสารส้มมาใช้ตามยถากรรม สำหรับปัญหาที่มีความวิตกกังวลในปัจจุบัน คือกรณีเกิดอุบัติเหตุรถน้ำมันพลิกคว่ำ บริเวณใกล้แหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้มีสารเคมีไหลลงปนเปื้อน ทำให้น้ำที่เตรียมสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนั้น คาดว่าจะไม่เพียงพอเพราะเหลือเพียงอ่างเก็บน้ำหนึ่งแห่ง ซึ่งใช้ครอบคลุมกันหลายหมู่บ้าน รวมถึงสถานที่ราชการ

ขณะที่ ชูวิทย์ ใจปิง หรือ พ่อหลวงชูวิทย์ ผู้ใหญ่บ้าน บ.บ้านกิ่วจันทร์ ม.10 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งเป็นตัวแทนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่ง พ่อหลวงชูวิทย์ ได้แสดงความกังวลว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไร้ที่อยู่ทำกิน ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีความชัดเจนว่าจะเยียวยาอย่างไร แม้ว่าชาวบ้าน จะไม่มีโฉนดที่ดินเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ แต่พวกตนนั้นได้พรรคอาศัยก่อนประกาศเขตป่าสงวนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าอยากเห็นหมู่บ้านพัฒนา หากมีการเดินหน้าโครงการชาวบ้านก็พร้อมสนับสนุน เพราะทุกคนต่างได้รับผลจะทบไม่ต่างจากประชาชนในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ

IMG_1467.JPG
  • พ่อหลวงชูวิทย์

จิราภัทร มหาวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ผอ.โรงเรียน กล่าวว่า ที่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติมีนักเรียนทั้งหมด 320 คน ซึ่งมีบางส่วนอยู่พื้นที่ห่างไกล เช่น จ.ลำปาง .พะเยา จ.แพร่ จึงต้องพักนอนอยู่ที่โรงเรียน 220 คน ทำให้มีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาเรื่องน้ำปนเปื้อนดินโคลน เพราะโรงเรียนขาดแคลนระบบคัดกรองน้ำ ส่งผลต่อสุขภาพทั้งบุคลากรและนักเรียน ขณะที่ฤดูแล้งทุกปี ต้องมีการประสานไปยังกรมชลประทาน จึงได้รับความอนุเคราะห์เป็นถังเก็บน้ำจำนวน 2,000 ลิตร ซึ่งเฉลี่ยแล้วใช้ได้ประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ดี ผอ.เห็นว่าถ้ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำได้สำเร็จจริง จะส่งผลให้ความเป็นอยู่ในพื้นที่ได้มาก

ขณะที่ จิดาภา ดีวรรณา นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เล่าให้ฟังว่าที่โรงเรียนต้องใช้น้ำที่มาจากแหล่งธรรมชาติ สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันนั้น โดยส่วนมากจะซื้อน้ำไว้ใช้เพื่อดื่มกิน ขณะที่การอาบน้ำก็ต้องลุ้นว่าวันนี้จะมีสภาพอากาศอย่างไร หากฝนตกน้ำจะมีดินโคลนหากวันไหนฝนไม่ตกน้ำจะใสแต่บางครั้งมีกลิ่นคาวปลา เนื่องจากน้ำไม่ได้มีการไหลเวียน ส่วนเวลาซักผ้าต้องเดินทาง 6 กิโลเมตร เพื่อไปยังแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง โดยเพื่อนนักเรียนบางคนแพ้น้ำต้องเข้ารักษาตัว ส่งผลต่อการเรียน ส่วนอุปสรรคการใช้ชีวิตในช่วงฤดูแล้ง ทุกคนต้องขนน้ำวันละหลายรอบ และมีข้อกำหนดร่วมกันว่าจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อมีน้ำใช้ในวันถัดไป 

"รู้สึกดีใจมากที่มีการเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำ หากพวกหนูจบไปรุ่นน้องก็ยังมีโอกาสใช้ ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบพวกหนู" ตัวแทนนักเรียน กล่าวทิ้งท้าย

IMG_1614.JPG
  • นักเรียนบอกเล่าการปนเปื้อนของน้ำ