ไม่พบผลการค้นหา
4 รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ 'คลัง-พาณิชย์-อุตสาหกรรม-คมนาคม' ยืนยันรัฐบาลผสม เป็น 'รัฐบาลผสาน' เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เข็นทุกมาตรการ ดูแลระยะสั้น-กลาง-ยาว

ในงานเสวนา 'ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่' ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ พร้อมกับการขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางเศรษฐกิจไทยโดย 4 รัฐมนตรี ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่นักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติมักสอบถามตนเสมอหลังการจัดตั้งรัฐบาลคือ รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่ และไปในทิศทางใด ซึ่งตนได้ยืนยันว่า รัฐบาลผสมสามารถทำงานตามนโยบายที่ประกาศได้ รัฐบาลได้หลอมรวมนโยบายของพรรคร่วมมาเป็นนโยบายรัฐบาล ดังนั้น ขอให้สบายใจว่าประเทศไทยจะเดินหน้าเต็มสูบ

สำหรับกระทรวงการคลัง ซึ่งนับว่าเป็นคนเปิดก๊อกของนโยบาย จึงได้มีแผนขับเคลื่อนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยจะไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจไทยตกท้องช้าง เพราะหากตกท้องช้างแล้ว กว่าจะฟื้นคืนกลับมาจะมีความเสี่ยงเสียทรัพยากรมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ออกชุดมาตรการดูแลออกมา

"วันนี้ เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยตกท้องช้างไม่ได้ เมื่อเรายังไม่รู้ว่า ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำวันนี้ จึงคือการสร้างภูมิต้านทานเศรษฐกิจไทยจากภายใน ให้คนไทยค้าขายได้ ไม่ฝืดเคือง" นายอุตตม กล่าว


ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

มาตรการที่ออกมา จึงยึดหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ชัดเจน ตรงจุด รวดเร็ว และโปร่งใส ดังนั้นที่ใครๆ วิจารณ์ว่า เป็นมาตรการแจกต่างๆ ตนเองยืนยันว่า มาตรการเหล่านี้มีเหตุผล เพราะรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน ถ้าไม่ทำวันนี้ เกษตรกร ชาวนาจะไม่ได้รับการดูแล ตอนนี้ต้องประคองเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก เพื่อให้เวลาที่เศรษฐกิจโลกฟื้น เศรษฐกิจไทยก็จะได้ฟื้นได้ทัน 

ดังนั้น ในฐานะกระทรวงการคลังที่เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ก็จะดูแลการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องใช้ ก็ต้องใช้ เช่น มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่จะทำต่างหากจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมติ ครม. เมื่อ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา หรือการจัดทำงบประมาณ ประจำปี 2563 ที่ทำเวลานี้ ก็จะต้องมองไปถึงงบประมาณ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นจะงานระยะกลาง ที่ทำงบประมาณเพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศ ต้องมีคิดถึงการลงทุนด้านดิจิทัล ที่อนาคตจะเป็นแกนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการบริการ สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลต้องลงทุนในระยะยาว

วันนี้เราต้องคิดถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ต้องลงทุน บริษัทขนาดใหญ่นำไปแล้ว แต่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยดูแลพัฒนาเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพให้เขาเติบโตขึ้นมา ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการที่คิดใหม่ สร้างของใหม่ โดยล่าสุดได้หารือกับกรมสรรพากร นำสตาร์ทอัพมาทำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) การให้สิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจลงทุน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะไม่ให้แบบเดิม แต่ต้องหาสิ่งใหม่ หรือแม้แต่การคิดถึงยุทธศาสตร์งบประมาณ รับมือสังคมสูงวัย ก็ต้องคิดเชิงงบประมาณ เพื่อให้คนสูงวัยเข้มแข็งทำงานได้ ต้องมีระบบส่งเสริม การลงทุนต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ โดยได้ให้แนวทางขยายการลงทุนของกองทุนอนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future fund (TFF) ซึ่งได้หารือกับกระทรวงคมนาคมไว้แล้วว่าจะนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานอะไรเข้ามาเป็นสินทรัพย์ในกองทุนฯ 

"ยืนยันในเรื่องเฉพาะ เราดูแลเต็มที่ ระยะกลาง เรามียุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนประเทศชัดเจน" นายอุตตม กล่าว

'จุรินทร์' ฟื้นตลาดข้าวอิรัก เดินหน้าเพิ่มตัวเลขส่งออกปีนี้


ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลผสม ไม่ได้แปลว่าจะเป็นลบเสมอไป แต่กลับจะมีพลังเพิ่มความหลากหลายของทรัพยากร บุคลากร นโยบายที่จะทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว เป็นพลังของประเทศตามที่ได้แถลงนโยบายไว้กับรัฐสภา และไม่ได้แปลว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะไม่สามารถยืนหยัดบริหารประเทศได้ เพราะในอดีตยุครัฐบาลชวน 2 ราวปี 2540-2544 รัฐบาลก็มีเสียงปริ่มน้ำ และสามารถอยู่เกือบครบเทอมขาดเพียง 1 สัปดาห์ ดังนั้น จึงมองว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำวันนี้ ถ้าจะขับเคลื่อนประเทศ ก็สามารถทำได้

ขณะที่ สงครามการค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องฝ่าไป และทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 3 หรือมากกว่า ผ่านสิ่งที่ต้องทำ 7 อย่าง ได้แก่ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้ประชาชนยังชีพได้ ยกระดับราคาสินค้าเกษตร ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผลักดันส่งออก ท่องเที่ยว และดันการลงทุนภาคเอกชน 

สำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ คือ การดูแลเรื่องการส่งออกและพืชผลเกษตร การยกระดับรายได้เกษตรกร ในพืชเกษตร 5 รายการ ได้แก่ ข้าว ปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ก็จะดูแลเต็มที่ ส่วนพืชอื่นๆ ก็จะดูแลควบคู่ไป โดยในวันที่ 27 ส.ค. นี้ การประกันรายได้เกษตรกรปลูกปาล์มในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 25 ไร่ ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเข้าที่ประชุม ครม. ถ้าผ่านก็จะใช้เวลาจัดการต่างๆ 1 เดือน และคาดว่า เงินงวดแรกจะถึงมือเกษตรกรต้นเดือน ต.ค. พร้อมกันนี้ก็มีมาตรการลดปริมาณผลผลิตในตลาดควบคู่ เช่น จะให้มีการใช้น้ำมัน B10 เป็นภาคบังคับแทน B7

เรื่องประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าว 5 ชนิด ก็จะนำเข้า ครม. 27 ส.ค. เช่นกัน ยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกษตรเป็นเจ้าของเรื่องจะทำเป็นลำดับถัดไป รวมถึงมันสำปะหลัง และข้าวโพดด้วย

ด้านการส่งออกภาครัฐและกระทรวงพาณิชย์จะเป็นทัพหนุน ทำหน้าที่ลดอุปสรรคให้กับเอกชน โดยรัฐและเอกชนต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อผลักดันตัวเลขส่งออกปีนี้ ดังนั้นจึงได้มีคณะทำงานรายสินค้า รายตลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิผล กรณีของข้าว มีแผนจะฟื้นตลาดอิรัก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีเอกชนไทยทำเสียชื่อเสียงไว้ ข้าวตลาดจีน ประเทศไทยมีออเดอร์ค้างท่อกับจีนอยู่ถึง 1.3 แสนตัน จากเอ็มโอยูที่มีทั้งหมด 2 ล้านตัน แต่จีนซื้อไปแล้วเพียง 7 แสนตัน ส่วนนี้ต้องเจรจาและผลักดันให้เกิดขึ้น ตลาดข้าวฟิลิปปินส์ที่เปลี่ยนวิธีเป็นนำเข้าเสรี ไม่มีโควต้า ก็ต้องผลักดันให้เอกชนไทยรู้จักกับผู้นำเข้า เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ไม่รู้จักผู้ส่งออกข้าวไทย เพราะซื้อผ่านรัฐมานาน เป็นต้น 

'สุริยะ' จัดสรรกองทุน 1 หมื่นล้าน ให้ผู้ประกอบการกู้ไม่เกิน 1 ล้าน ดอกเบี้ย 1% นาน 7 ปี


ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เครื่องยนต์ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม จะสานต่อนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นสร้างคุณค่าด้วยปัญญา ปรับเปลี่ยน นวัตกรรมการผลิต เพิ่มมูลค่า ยกระดับศักยภาพการผลิต ควบคู่การกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องประสานความร่วมมือเอกชน สถาบันการศึกษา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมี 5 เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ โดยต่อยอดนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีค่ายรถยนต์ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนกว่า 53,000 ล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ถัดมาคือยกระดับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ มีนโยบาย มุ่งพัฒนาอย่างรอบด้าน การสร้างต้นแบบเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับตลาด นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญยกระดับผู้ประกอบการเข้าสู่ยุควิถีไทย สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ขยายการดำเนินการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สนับสนุนผู้ประกอบการด้านต่างๆ ผ่านศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรม นอกจากยังมีเรื่องเงินทุน ให้มีแพ็กเกจช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ Size S ให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่าย ให้พิจารณาจากความเป็นไปได้ โดยไม่ต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจัดสรรกองทุน 10,000 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยผู้ประกอบการกู้ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 นาน 7 ปี 

นอกจากนี้จะผลักดันอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ยึดโยงการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค ขับเคลื่อนอีอีซี และเขตเศรษฐกิจชายแดน ขณะเดียวกันจะเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ การตรวจสถานประกอบการ การชำระค่าบริการออนไลน์

"ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องขับเคลื่อนในทุกมิติ รัฐบาลจะต้องเร่งทำทุกวิธีและมาตรการใหม่ๆ เพราะประเทศไทยเปรียบเสมือนรถยนต์ กำลังวิ่งผ่านถนนขรุขระ เครื่องยนต์ก็มีเสื่อม เจอปัจจัยภายนอก เปรียบพายุฝนมากระทบ รถยนต์ก็ต้องชะลอลง" นายสุริยะ กล่าว


ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

'ศักดิ์สยาม' ชี้อยู่ในตำแหน่งมา 27 วัน เน้น 5 เรื่อง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ มีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางน้ำทางอากาศ และทางราง ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้แต่ละโครงการต้องเป็นไปตามแผนงาน ซึ่งขณะนี้เรื่องการขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลได้ยกคำร้องไปแล้วจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังต้องรอคำสั่งศาล ในขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะมีการลงนามในสัญญาภายในเดือนกันยายนนี้

"ขณะนี้เรากำลังสร้างบ้าน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ในอีอีซี แม้มองดูเหมือนกำลังจะมีปัญหา แต่ถ้าสร้างเสร็จจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำว่า ตนเพิ่งเข้ามาทำงาน 27 วัน แต่ได้วางแนวทางการบริหารงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบไปด้วยการสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ลดภาระงบประมาณแผ่นดิน แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และทุกโครงการของกระทรวงคมนาคมต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

ทั้งนี้ จะต้องแก้ไขปัญหาจราจร และปัญหาฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการทั้งในเรื่องการจำกัดเวลาวิ่งของรถบรรทุกในชั้นเมือง ขยายความเร็วของรถวิ่งได้สูงสูง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกเลิกไม้กั้นทางด่วนที่ซ้ำซ้อน ทำบัตรผ่านทางเป็นแบบตั๋ววัน คาดว่าจะเหลือ 30 บาทต่อวัน รวมถึงยกเลิกเกาะกลางถนน และจัดการรถโดยสารสาธารณะโดยใช้เทคโนโลยี ยืนยันว่า ยังไม่ได้บอกว่าจะขึ้นค่ารถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ตอนนี้เรามีแอปพลเคชันมากมาย จะทำอย่างไรให้บริษัทที่จะให้บริการต้องเป็นของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :