ดัชนีปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ้นวันที่ 12 มี.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 1,114.91 ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า 134.98 จุด หรือติดลบร้อยละ 10.8 มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 101,652 ล้านบาท
ขณะที่ หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มูลค่าซื้อขาย 7,068.79 ล้านบาท ราคาหุ้น -7.75 ลดลงร้อยละ 12.81
2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มูลค่าซื้อขาย 6,872.21 ล้านบาท ราคาหุ้น -2.75 ลดลงร้อยละ 9.40
3. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มูลค่าซื้อขาย 6,830.03 ล้านบาท ราคาหุ้น -4.25 ลดลงร้อยละ 6.44
4. บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM มูลค่าซื้อขาย 6,360.81 ล้านบาท ราคาหุ้น -3.20 ลดลงร้อยละ 13.62
5. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มูลค่าซื้อขาย 4,526.52 ล้านบาท ราคาหุ้น -20.50 ลดลงร้อยละ 13.53
6. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มูลค่าซื้อขาย 3,350.82 ล้านบาท ราคาหุ้น -12.25 ลดลงร้อยละ 16.96
7. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มูลค่าซื้อขาย 3,264.93 ล้านบาท ราคาหุ้น -11.50 ลดลงร้อยละ 6.22
8. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มูลค่าซื้อขาย 2,581.55 ล้านบาท ราคาหุ้น -7.50 ลดลงร้อยละ 10.17
9. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มูลค่าซื้อขาย 2,217.57 ล้านบาท ราคาหุ้น -10.00 ลดลงร้อยละ 9.48
10. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC มูลค่าซื้อขาย 2,214.73 ล้านบาท ราคาหุ้น -33.00 ลดลงร้อยละ 10.58
ตลท.ชี้หุ้นไทยร่วงแรงจากน้ำมัน-พิษโควิด
ขณะที่ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 12 มี.ค. ที่ร่วมแรงไปกว่า 134.98 จุด หรือ ลดลงร้อยละ 10.80 แม้ว่าจะใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์พักการซื้อขายในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ตลท. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาการจัดตั้ง "กองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน" หลังจากที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว
โดยยืนยันว่าจะมีการศึกษาให้มีความเหมาะสม พร้อมกับการศึกษามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในทุกแนวทาง รวมไปถึงการทบทวนธุรกรรมช็อตเซล หากจะมีผลต่อ Sentiment (บรรยากาศของตลาด) รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีความมั่นคง
สำหรับการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ของ ตลท.หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลงไปร้อยละ 10 และหลังจากเปิดทำการอีกครั้งก็ยังติดลบราวร้อยละ 10 จนถึงตลาดปิดทำการตามเวลาปกติ และมีมูลค่าการซื้อขายราว 1 แสนล้านบาท โดยมีนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 4.6 พันล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 4 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายบุคคลซื้อสุทธิ 1.06 หมื่นล้านบาท
จากการที่ตลาดหุ้นลดลงอย่างมากเริ่มจากกลางเดือน ก.พ.จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และกระแทกแรง ๆ อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และยังมีข่าวเรื่องโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง พบว่าราคาหุ้นใน SET และ mai ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จำนวน 231 ตัว ฐานราคาปรับลงมาค่อนข้างมาก
เมื่อราคาลงมาทำให้หุ้น 448 ตัวที่มีราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่ามูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าราคาหุ้น เป็นโอกาสของการเข้าซื้อกิจการ เพราะซื้อหุ้นในตลาดได้ถูกมาก และมีบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผลแล้วพบว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าร้อยละ 5 มี 66 บริษัท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 0.8
ยังไม่เห็นจุดต่ำสุด หวังรัฐออกนโยบายใจถึงพึ่งได้
นายสมบัติ นาราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ระบุว่า จากปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นในขณะนี้ 2 ประเด็นคือ ราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด โดยในประเด็นของราคาน้ำมันนั้น ขณะนี้เกือบทุกสำนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล บางสำนักให้ไว้ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งบริษัทที่มองว่าได้รับผลกระทบทางลบคือ PTT และ PTTEP
ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโควิดนั้น จากมาตรการที่เข้มข้นของทางการจีนทำให้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากประเทศอื่นๆ ที่พบการระบาดใช้มาตรการที่เข้มข้นในการสกัดกั้นการแพร่เชื้อเช่นเดียวกับจีน ก็คาดหวังว่าจะสามารถทำให้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ชะลอลงภายในครึ่งแรกของเดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้บรรยากาศทั่วโลกดีขึ้น
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า จากประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบตั้งหลักได้ก็จะใช้มาตรการการเงินการคลังมาแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับครั้งที่สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉิน และอังกฤษก็ลดดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นมองว่าการใช้มาตรการทางการเงิน หากมีมาตรการการคลังออกมาควบคู่กัน ก็จะสามารถทำให้จุดต่ำสุดของตลาดหุ้นเกิดขึ้นได้ทันที ดังนั้นจึงต้องเชียร์ให้หลายประเทศใช้มาตรการการคลังแบบ "ใจถึงพึ่งได้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: