ไม่พบผลการค้นหา
น้ำมันแพง สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมหันมารวมกันทำแคมเปญ 'บอยคอต' ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่นับวันยิ่งมีกำไรมหาศาล ปี 2560 ที่ผ่านมาแตะระดับ 1.35 แสนล้านบาท มีสินทรัพย์สูงถึง 2.33 ล้านล้านบาท แล้ว ปตท.ร่ำรวยจากธุรกิจอะไร ติดตามจากรายงาน

กระแสการต่อต้านการใช้บริการบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันในรูปแบบค้าปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา 

อีกทั้ง ปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 1,500 แห่ง ซึ่งร้อยละ 90 เป็นดีลเลอร์ มีเพียงร้อยละ 10 เป็นปั๊มที่ปตท. ดำเนินเอง ดังนั้น หากสถานการณ์บอยคอตไม่ใช้บริการปั๊มน้ำมันปตท. ลุกลามต่อเนื่อง กลุ่มที่น่าได้รับผลกระทบมากกว่า ปตท. คือ ดีลเลอร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจขยับเข้าใกล้ 30 บาทเข้าไปทุกที จากกระแสสังคมที่มองว่าธุรกิจ ปตท.จะได้ประโยชน์ หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น บริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่า ปตท. ซึ่งเป็นผู้ขายน้ำมันรายใหญ่ของประเทศ ย่อมได้ประโยชน์ไปด้วย ยิ่งน่าคิดว่า แต่ละปี ปตท. ร่ำรวยขนาดไหน และอะไรทำให้ประชาชน 'หมั่นไส้' ในเวลาที่น้ำมันแพง

สิ้นปี 2560 ปตท. กวาดกำไร 1.35 แสนล้านบาท

เมื่อเข้าไปดูรายงานผลประกอบการในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา (2557-ไตรมาสแรกปี 2561) ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า ธุรกิจพลังงานแห่งชาติแห่งนี้อู้ฟู้ขนาดไหน 

โดยเมื่อปี 2557 ปตท. มีกำไรสุทธิ 55,794.93 ล้านบาท ต่อมาในปี 2558 แม้กำไรสุทธิจะน้อยลง แต่ก็อยู่ในระดับ 19,936.42 ล้านบาท ส่วนปี 2559 กำไรสุทธิ 94,609.08 ล้านบาท ปี 2560 กำไรสุทธิ 135,179.60 ล้านบาท และไตรมาสที่ 1/2561 มีกำไรสุทธิ 39,788.26 ล้านบาท โดยในปี 2558 มีกำไรลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 64 แต่พอปี 2559 กำไรสุทธิกระโดดขึ้นถึงร้อยละ 375 และปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 ตามลำดับ 

ขณะที่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในปี 2557 อยู่ที่ 96.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แล้วลดลงเป็น 50.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2558 เป็น 41.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2559 และอยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2560 

โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2561 พบว่า ปัจจุบัน ปตท. มีสินทรัพย์รวม 2.23 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 960,453 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.48 ล้านล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมเข้าใจต่อบริษัทพลังงานแห่งนี้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็น เมื่อตรวจสอบที่มาของรายได้ พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2544 ปัจจุบัน มีรายได้จากผลิตภัณฑ์น้ำมันของบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 31.68 เป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์ก๊าซร้อยละ 21.17 ส่วนรายได้จากธุรกิจเสริมจากการให้บริการสถานีบริการน้ำมันรูปแบบค้าปลีก (ปั๊มน้ำมัน) และผลการดำเนินงานของร้านกาแฟอเมซอน คิดเป็นร้อยละ 0.30 เท่านั้น

ขณะที่ การเติบโตของธุรกิจปตท.ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการถือหุ้นในบริษัทลูกทั้งหมด 67 บริษัท โดยบริษัทที่ขับเคลื่อนรายได้หลักให้กับ ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในสัดส่วนร้อยละ 65.29 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ในสัดส่วนร้อยละ 49.10 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC สัดส่วนร้อยละ 48.79 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC สัดส่วนร้อยละ 22.58 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS สัดส่วนร้อยละ 7.06  

กำไรกลุ่ม ปตท-กราฟฟิก

บริหาร 2 ขา ไม่ว่าราคาน้ำมันขึ้นหรือลด ย่อมไม่สะเทือนธุรกิจ ปตท.

กิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ธุรกิจของกลุ่ม ปตท.นั้นจะอิงผลประกอบการตามราคาน้ำมัน โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

  • กลุ่มที่อยู่ในธุรกิจผลิตและสำรวจน้ำมัน กลุ่มนี้จะได้รับผลดีจาก 2 ส่วน คือ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้น และส่วนที่ 2 บริษัทจะได้รับประโยชน์จากสต็อกน้ำมันที่จะรับรู้รายได้จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งกลุ่มนี้คือกลุ่ม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม


  • กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น กลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์หากราคาน้ำมันทรงตัวทำให้ค่าการกลั่นของบริษัทมีเสถียรภาพและสามารถทำกำไรได้ ปัจจัยสำคัญของกลุ่มโรงกลั่น ค่าการกลั่นที่มีเสถียรภาพ หากราคาน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจะทำให้ธุรกิจมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยบริษัทที่อยู่ในกลุ่มโรงกลั่นคือ ไทยออยล์


  • กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำ เพราะจะช่วยด้านต้นทุนในการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์จากส่วนต่างต้นทุนการผลิตและส่วนต่างของราคาขาย คือ พีทีที โกลบอล เคมิคอล นอกจากนี้ยังมีบริษัทในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีรายได้ที่มีเสถียรภาพจากการขายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 


ดังนั้นผลการดำเนินงานของปตท. ไม่ว่าน้ำมันจะปรับตัวเพิ่ม หรือ ปรับตัวลดลง ต่างก็เป็นประโยชน์กับ ปตท. เพราะปตท.มีทั้งธุรกิจที่เป็นของตัวเองและธุรกิจของบริษัทลูกที่ได้รับผลดี ทั้งในฝั่งน้ำมันราคาขาขึ้นและขาลง และมีเสถียรภาพมากกว่า

โดยราคาน้ำมันดิบในปีนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีฯ ประเมินว่าจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนโอกาสที่จะขยับขึ้นไป 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อาจขึ้นเป็นไปได้ในระยะสั้น เนื่องจากมีกำลังผลิตจากเชลแก็สในสหรัฐฯ คอยกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่

ซีอีโอ ปตท.มองกำไรดีต่อเนื่อง 

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 แนวโน้มมีโอกาสมีกำไรจากสต็อกน้ำมันตามราคาน้ำมันที่อยู่ช่วงขาขึ้นโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทยังไม่ได้ประเมิน เนื่องจากราคาน้ำมันยังค่อนข้างผันผวนในปัจจุบันจากปัจจัยการเมืองต่างประเทศและการเก็งกำไรของกองทุนในต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนในระยะสั้น จึงทำให้คาดการณ์ไว้ค่อนข้างยาก 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงเหมาะสมตามต้นทุนทางเทคนิคควรจะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนปรับประมาณการแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปีนี้ที่อาจจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมคาดไว้อยู่ที่ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย 

แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันส่งออก (โอเปก) และนอกโอเปค เช่น รัสเซีย มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันทำให้เริ่มเห็นราคาปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างราคาน้ำมันที่ประกอบด้วย ต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูป, อัตราภาษี-เงินเข้ากองทุน และค่าการตลาด อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้น่าคิดว่า ความอู้ฟู้ที่ ปตท. มีในวันนี้ กระจายสู่รากฐานเศรษฐกิจไทยในระดับใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :