สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 ระบุถึง 5 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จังหวัดที่เป็นแชมป์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็น จ.ลำพูน ที่เคยเป็นจังหว้ดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดมาตลอด ก่อนหน้านี้ 13 สมัย ทำให้ครั้งนี้ จ.ลำพูน เป็นจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดของประเทศไทยเป็นสมัยที่ 14
โดย จ.ลำพูน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 333,392 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดของประเทศ 287,556 คน (86.27%)
อันดับ 2 จ.เพชรบุรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 388,760 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 328,578 คน (84.52%)
อันดับ 3 จ.พัทลุง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 417,460 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 352,577 คน (84.46%)
อันดับ 4 จ.นครปฐม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 739,715 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 617,774 คน (83.52%)
อันดับ 5 จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 575,796 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 477,004 คน (82.84%)
อันดับ 5 จ.ราชบุรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 682,471 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 565,364 คน (82.84%)
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกต้ัง 52,195,920 คน มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 39,514,973 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 39,514,964 คน คิดเป็น 75.71% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งที่ผ่านมา
เมื่อตรวจสอบข้อมูล จ.ลำพูน ที่มีสถิติแชมป์นักใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดของประเทศไทย มา 14 สมัยติดต่อกัน โดยแบ่งเป็นทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป การออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง การเลือกตั้ง ส.ว. จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ มีดังนี้
1. 6 ม.ค. 2544 เลือกตั้ง ส.ส. / 3 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 306,187 คน / มาใช้สิทธิ 83.78 % / (ที่ 1 ของประเทศ)
2. 6 ก.พ. 2548 เลือกตั้ง ส.ส. / 3 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 313,379 คน /มาใช้สิทธิ 86.56%
3. 2 เม.ย. 2549 เลือกตั้ง ส.ส. (โมฆะ) / 3 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 315,176 คน /มาใช้สิทธิ 80.25%
4. 19 เม.ย. 2549 เลือกตั้ง ส.ว./ 1 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 312,355 คน / มาใช้สิทธิ 80.25%
5. 19 ส.ค. 2550 ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ / 1 เขต/ จำนวนผู้มีสิทธิ 314,899 คน / มาใช้สิทธิ 75.35%
6. 23 ธ.ค. 2550 เลือกตั้ง ส.ส. / 2 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 308,030 คน / มาใช้สิทธิ 88.9% /
7. 2 มี.ค. 2551 เลือกตั้ง ส.ว. / 1 เขต /จำนวนผู้มีสิทธิ 312,768 คน / มาใช้สิทธิ 79.58%
8. 11 ม.ค. 2552 เลือกตั้ง ส.ส. / 2 เขต (เลือกตั้งซ่อม) /จำนวนผู้มีสิทธิ 311,061 คน / มาใช้สิทธิ 77.44%
9. 3 ก.ค. 2554 เลือกตั้ง ส.ส. / 2 เขต /จำนวนผู้มีสิทธิ 317,727 คน / มาใช้สิทธิ 88.61%
10. 2 ก.พ. 2557 เลือกตั้ง ส.ส.(โมฆะ) / 2 เขต /จำนวนผู้มีสิทธิ 328,667 คน / มาใช้สิทธิ 73.39%
11. 30 มี.ค. 2557 เลือกตั้ง ส.ว. / 1 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 324,659 คน / มาใช้สิทธิ 68.39%
12. 7 ส.ค. 2559 ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ / 1 เขต /จำนวนผู้มีสิทธิ 332,822 คน / มาใช้สิทธิ 76.47%
13. 24 มี.ค. 2562 เลือกตั้ง ส.ส. / 2 เขต / จำนวนผู้มีสิทธิ 332,838 คน /มาใช้สิทธิ 87.34%
14 . 14 พ.ค. 2566 เลือกตั้ง ส.ส. / 2 เขต /จำนวนผู้มีสิทธิ 333,392 คน / มาใช้สิทธิ 86.25%
ขณะที่ ชรินทร์ทิพย์ ไชยโย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) ลำพูน ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ถึงกรณีที่ประชาชน จ.ลำพูน ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติโดยมีสถิติสูงที่สุดของประเทศมาตลอด 14 สมัยว่า เกิดจากส่วนหนึ่งประชาชน จ.ลำพูน มีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยอยู่แล้ว อีกทั้ง กกต.ประจำจังหวัดลำพูน ก็ยังร่วมรณรงค์ให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยแคมเปญ "ลำพูนไม่ลำพัง รวมพลังเลือกคนดี" เพื่อช่วยรักษาแชมป์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดเป็นอับดับที่ 1 ของประเทศประเทศไทยเป็นสมัยที่ 14
ชรินทร์ทิพย์ ระบุด้วยว่า กกต.จังหวัดลำพูน ได้ร่วมรณรงค์การเลือกตั้งมาเป็นเวลา 3-4 เดือนอยู่แล้ว โดยลงไปรณรงค์ทุกเครือข่าย อีกทั้งยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ช่วยรณรงค์ด้วย นอกจากนี้หน่วยราชการก็ยังขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละอำเภอ จัดการแข่งขันโดยมอบโล่รางวัลที่ร่วมกันของประธานกกต.จังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดให้ อำเภอ หมู่บ้านที่มีการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 80% และมีบัตรเสียน้อยที่สุดด้วย
"จะบอกว่าคน จ.ลำพูน เป็นนักประชาธิปไตยก็ได้ เพราะ จ.ลำพูน เคยได้รับการชี้วัดจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้อยู่ในระดับที่สูง" ชรินทร์ทิพย์ ระบุ
ขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต.จว.ลำพูน เปิดเผยข้อมูล อำเภอที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินร้อยละ 80 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเกียรติบัตร เพื่อมอบเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
1) รางวัลอำเภอที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินร้อยละ 80 จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 81.76 อำเภอแม่ทา มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 84.34 อำเภอบ้านธิ มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 88.41 อำเภอป่าซาง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 82.59 อำเภอบ้านโฮ่ง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 83.32 อำเภอเวียงหนองล่อง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 84.69 และอำเภอทุ่งหัวช้าง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 88.47
2) รางวัลอำเภอที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินร้อยละ 75 จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลี้ มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 78.52
3) รางวัลอำเภอที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ อำเภอทุ่งหัวช้าง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 88.47
4) รางวัลอำเภอที่มีบัตรเสียน้อยที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน มีจำนวนบัตรเสีย ร้อยละ 2.92
และ 5) รางวัลหมู่บ้านที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ บ้านแม่บอนใต้ หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 100
ด้าน สันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยในการรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดลำพูน เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และสามารถรักษาแชมป์ เป็นจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดของประเทศได้ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 14
ด้าน รังสรรค์ มณีรัตน์ ว่าที่ ส.ส.ลำพูน เขต 2 พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์่ผ่าน 'วอยซ์' ว่า เหตุที่ คนจ.ลำพูน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เพราะมาจากการรณรงค์ของนักการเมือง ทั้งข้าราชการในจังหวัด อีกทั้งหน่วยงานราชการก็รณรงค์มอบรางวัลให้กับอำเภอที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่มาความตื่นตัวของ จ.ลำพูน มาทุกยุค
ทันทีที่ 'วอยซ์' บอกว่า 'คนลำพูน' เป็นแชมป์ใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 14 สมัยติดต่อกัน ทำให้ รังสรรค์ ตกใจกับสถิติดังกล่าว ก่อนบอกว่า คนลำพูนตื่นตัว เป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งตื่นตัวตอนนี้กันมาก ตนคิดว่ามีหลายแง่มุม โดยเนื้อแท้ คน จ.ลำพูน ไม่ชอบเผด็จการ ทหารอยู่แล้ว โดยคะแนนเลือกตั้งฝั่งประชาธิปไตย ถ้าบวกกัน 2 เขตทั้งจังหวัดรวมกันน่าจะตกเกือบ 1 แสน ส่วนพรรคทหารจำแลงจะได้คะแนนเสียงไม่เท่าไร
รังสรรค์ บอกว่า แม้ กกต.จะยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง แต่ตนก็ยังต้องเดินสายขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก ที่เลือกตนมาเป็น ส.ส. และต้องขอบคุณชาวบ้านผู้สูงอายุบางคนด้วยที่เคยบอกกับตนเองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เงินจากบางพรรคมา 300 บาท แต่ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น ซึ่งคนสูงอายุคนนั้นรับเงินมาแล้วกาพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย
เมื่อถามถึงการซื้อเสียงใน จ.ลำพูน มีผลต่อคนลำพูนหรือไม่ รังสรรค์ บอกไม่มีผลกับคนลำพูน เพราะคนรักประชาธิปไตย รับเงินมากาประชาธิปไตย
เขตเลือกตั้งที่1 จ.ลำพูน
อันดับ 1 วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก พรรคก้าวไกล ได้รับเลือกตั้ง 60,127 คะแนน
อันดับ 2 สงวน พงษ์มณี พรรคเพื่อไทย 28,328 คะแนนน
อันดับ 3 กัลป์ สะคำปัน พรรครวมแผ่นดิน 17,464 คะแนน
คะแนนบัญชีรายชื่อ เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ลำพูน
อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 65,196 คะแนน
อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 50,786 คะแนน
อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 8,398 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ลำพูน
อันดับ 1 รังสรรค์ มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 47,050 คะแนน
อันดับ 2 ชัชพีร์ วรรณาพิรัชย์ 43,266 คะแนน
อันดับ พล.ต.ต.กริช กิติลือ 29,174 คะแนน
คะแนนบัญชีราายชื่อ เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ลำพูน
อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 52,807 คะแนน
อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 49,960 คะแนน
อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ 8,657 คะแนน