วันที่ 8 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเครื่องบินรบของเมียนมา ได้รุกล้ำน่านฟ้าไทย บริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทหาร ก่อนจะกลับออกไป โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ไม่เป็นไร เป็นเพียงการตีวงเลี้ยวเข้ามาในประเทศไทย ตนผิดหวังกับพฤติกรรมดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และในฐานะทหาร ส่วนเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าทางรัฐบาลเมียนมาได้ขอโทษแล้ว ศราวุธตั้งคำถามว่า รัฐบาลเมียนมาได้ขอโทษต่อใคร เพราะกลุ่มคนที่รัฐบาลเมียนมาควรขอโทษมากที่สุดคือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจู่โจมดังกล่าว
"ถ้าท่านนายกฯ มีท่าทีแบบนี้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านทุกระดับ ไม่มีใครกล้าออกนอกแนวนี้หรอก เพราะท่านบอกว่าเป็นการตีวงเลี้ยวเข้ามาในไทย ท่าน ผบ.ทอ. เปรียบว่าเป็นการตีวงเลี้ยว เหมือนเพื่อนบ้านที่เดินล้ำเข้ามาในสนามหญ้าหน้าบ้านเรา แค่นี้ต้องยิงกันเลยหรือ หากเพื่อนบ้านเราถืออาวุธครบมือ เอา M-16 มาด้วย เดินเข้ามาในสนามหญ้าหน้าบ้านและยิงใส่บ้านของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม ท่านยอมรับได้ไหมครับ ยืนยิงอยู่ 10-20 นาที ถ้าท่านยืนอยู่เฉยๆ คิดเป็นอื่นไม่ได้เลยครับ นอกจากท่านรู้เห็นเป็นใจ สมรู้ร่วมคิดกัน"
ศราวุธ เสนอต่อประธานฯ ว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้นายกฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจง หากประธานฯ สามารถยอมรับเรื่องทั้งหมดนี้ได้ ถือมีมาตรฐานต่ำมาก จึงขอตั้งคำถามว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกองทัพไทยได้เรียกร้องให้ทางการเมียนมาทำอะไรบ้างหรือไม่
ทั้ง ศราวุธ ยังได้ตั้งคำถามในกรณีนี้ว่า ในการปฏิบัติการครั้งนี้ ท่านนายกฯ ได้รับรายงานมาว่าอย่างไร มีการใช้อาวุธยิงเข้ามาในเขตแดนไทยหรือไม่ และหลังจากที่รัฐบาลเมียนมาร์ใช้อาวุธปราบปรามชาติพันธุ์แล้ว นายกฯ มีปฏิกิริยาอย่างไร
รมช.กลาโหม ปัดรู้เห็นปฏิบัติการล้ำฟ้าไทย ยันประชุมเมียนมาเรื่องอื่น
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายจากนายกฯ เพื่อชี้แจงกระทู้ถามสดโดยระบุว่า ทางการไทยต้องการให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้าน และครอบครัวอาเซียน หวังว่าทางเมียนมาจะใจเย็น และหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเมียนมา รวมถึงคนทุกกลุ่ม ทางประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
กรณีเครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำน่านฟ้านั้น กองทัพอากาศได้มีการเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง พร้อมเรดาร์คอยตรวจจับเครื่องบินบริเวณชายแดน อีกทั้งมีหน่วยบินเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แบบทันที ทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามกฎสากล มีความรอบคอบ รัดกุม ทั้งด้านทหารและการทูต
ส่วนกระบวนการหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. กระทรวงต่างประเทศก็ได้ส่งหนังสือประท้วงไปยังกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเพื่อเรียกร้องการเยียวยาต่อความเสียหายทรัพย์สินประชาชน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก ในส่วนผู้เสียชีวิตนั้น เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติ หรือคนกลุ่มน้อย ถือบัตรสีชมพู มีสิทธิทางสาธารณสุขและอยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งมีการควบคุม และผู้เสียชีวิตนี้อยู่ในพื้นที่เมียนมา เข้าออกประเทศไทยตามช่องทางต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
สำหรับกรณี พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเข้าประชุมกับมินอ่องหลาย ก่อนเกิดเหตุเครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทยนั้น พล.อ.ชัยชาญ ยืนยันว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อทำข้อตกลง และสร้างความเชื่อใจในการร่วมมือกันสร้างความมั่นคงระหว่างชายแดนไทย-เมียนมาร์ เกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อใจระหว่างประเทศ และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศ ไม่ใช่การพูดคุยเรื่องการปฏิบัติการของเมียนมาอย่างที่หลายคนเข้าใจ