จากผลการการสอบของ PISA ประจำปี 2022 ซึ่งถูกเลื่อนออกมาหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่า เด็กนักเรียนของสิงคโปร์ถูกจัดให้มีผลสมรรถนะอยู่ในอันดับที่ 1 ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
จากการวัดผลครั้งล่าสุดโดย PISA เมื่อปี 2018 สิงคโปร์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษาครั้งล่าสุด เนื่องจากโรงเรียนในจีนได้ปิดทำการในขณะที่ PISA กำลังทำการศึกษาผลการเรียนของนักเรียนทั่วโลก โดยเมื่อเทียบกับปี 2018 แล้ว นักเรียนสิงคโปร์ที่เข้าร่วมในการวัดผลของ PISA ในปี 2022 ยังคงรักษาผลการเรียนของตัวเองในวิชาคณิตศาสตร์ และสามารถปรับปรุงผลการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผลการเรียนด้านการอ่านของนักเรียนสิงคโปร์ปรับลดลงเล็กน้อย
กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าวว่าการลดลงในผลคะแนนด้านการอ่านของนักเรียนสิงคโปร์นั้น เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับทักษะการอ่านของนักเรียนในประเทศอื่นๆ จำนวนมาก และอาจสะท้อนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านทั่วโลก โดยผลคะแนนของ PISA ครั้งล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ยังคงมีสัดส่วนของนักเรียนที่ทำคะแนนได้ดีในระดับสูง
ในด้านการอ่าน นักเรียนสิงคโปร์ 23% มีผลคะแนนเป็นอันดับต้นๆ สำหรับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 41% และ 24% ตามลำดับ โดยนักเรียนที่ทำคะแนนได้ดีอยู่ในระดับที่ 5 และ 6 ในทำนองเดียวกัน สิงคโปร์มีนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำในด้านการอ่านอยู่ที่ 11% และในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 8% โดยกลุ่มนักเรียนดังกล่าวมีความสามารถต่ำกว่าระดับที่ 2
กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังกล่าวอีกว่า “นักเรียนชาวสิงคโปร์ยังคงมีผลการเรียนที่แข็งแกร่ง แม้จะมีการหยุดชะงักของโควิด-19 รวมถึงนักเรียนจากบ้านที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่า” โดยอ้างอิงจากตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนจากบ้านด้อยโอกาสในสิงคโปร์ทำคะแนนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย OECD ในทั้งสามวิชาที่มีการทำการทดสอบ
อย่างไรก็ดี จากการวัดผล PISA ประจำปี 2022 พบว่า ในภาพรวมของปี 2022 สมรรถะของเด็กนักเรียนในกลุ่มประเทศและเขตเศรษฐกิจ OECD มีอัตราที่ลดลงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ในขณะที่เด็กนักเรียนไทยมีผลคะแนนตกต่ำเป็นประวัติการณ์
สำหรับสมรรถนะด้านการอ่านที่มีสิงคโปร์อยู่ในอันดับแรก มี 9 ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เอสโตเนีย, มาเก๊า, แคนาดา, สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ โดยมี 3 ประเทศในอันดับสุดท้ายได้แก่ โมร็อกโก, อุซเบกิสถาน และกัมพูชา ตามลำดับ ทั้งนี้ เด็กนักเรียนไทยมีทักษะการอ่านอยู่ที่อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ เป็นรองเวียดนามในอันดับที่ 34 บรูไนในอันดับที่อันดับ 44 และมาเลเซียในอันดับที่ 60
ในสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์ที่มีสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 มีประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นรองลงมาตามลำดับได้แก่ มาเก๊า, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา และนิวซีแลนด์ ส่วนอันดับที่ 10-20 เป็นนักเรียนจากกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 14 ตามมาด้วยเด็กนักเรียนจากสหรัฐฯ ในอันดับที่ 34 ทั้งนี้ เด็กนักเรียนไทยมีทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองเวียดนามในอันดับที่ 31 บรูไนในอันดับที่ 40 และมาเลเซียในอันดับที่ 54
สำหรับสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ที่มีนักเรียนสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 1 เช่นกันนั้น ยังมีประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นรองลงมาตามลำดับ ได้แก่ ญี่ปุ่น, มาเก๊า, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, ฮ่องกง, แคนาดา, ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย ในขณะที่เด็กนักเรียนไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองเวียดนามในอันดับที่ 35 บรูไนในอันดับที่ 42 และมาเลเซียในอันดับที่ 52
แอนเดรียส ชไลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ และที่ปรึกษาพิเศษด้านนโยบายการศึกษาของเลขาธิการ OECD กล่าวชื่นชมสิงคโปร์ ที่ยังคงเป็นผู้นำตารางผลการศึกษาระดับโลกของ PISA “(สิงคโปร์) เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่เห็นผลกระทบด้านลบต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่” ชไลเชอร์กล่าว พร้อมระบุเสริมว่ายังมีปัจจัยหลายประการ รวมถึงความคาดหวังที่สูงและสม่ำเสมอต่อนักเรียน และระบบการเรียนการสอนที่ให้ความเข้มงวด ในด้านของค่าพื้นที่และความสนใจทางปัญญา
ผลคะแนน PISA ทั้งในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย ลดลงในระดับวิกฤตเมื่อเทียบกับการวัดผลเมื่อ 4 ปีก่อน และเป็นผลเฉลี่ยคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไทยเข้าร่วมประเมินของ PISA เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการทดสอบ 10 ปีล่าสุดระหว่างปี 2012-2022 เด็กนักเรียนไทยมีคะแนนด้านคษฺตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลดลงไปกว่า 30 คะแนน ในขณะที่ผลด้านการอ่านของนักเรียนไทยลดลงไปกว่า 60 คะแนน นับเป็นช่วงคะแนนที่ลดต่ำกว่าค่าปกติของเด็กที่ได้รับจากการเรียนตลอด 1 ปี
ที่มา: