ไม่พบผลการค้นหา
"ศรีสุวรรณ จรรยา" จี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องโครงการเตาเผาขยะของกทม. ชี้พบพิรุธ 5 ข้อสงสัยส่อทุจริต เอื้อประโยชน์เอกชน

ที่สำนักงาน ป.ป.ช.ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวน สอบสวน 1.ผู้ว่าฯ กทม. 2.ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. 3.คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และ 4.คณะกรรมการจัดทำร่าง TOR กรณีการกำหนดร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช โดยมีข้อกล่าวหา 5 ข้อ ดังนี้

1.ระยะเวลาการเปิดรับฟังข้อวิจารณ์ที่สั้นเกินไป คือ ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 หรือ 4 วันทำการเท่านั้น จะมีเหตุผลอื่นไปไม่ได้ นอกจากการที่จะปกปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลในร่างทีโออาร์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสเสนอแนะหรือท้วงติงร่างทีโออาร์ดังกล่าวได้ทันเวลาเท่านั้น อันถือเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายไม่สุจริตได้

2.การกำหนดราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริงถึง 3 เท่าตัว คือ 919 บาทต่อตัน ก่อนที่ กทม.ได้ปรับลดลงเหลือเพียง 900 บาทต่อตัน ซึ่งพบว่าหน่วยราชการท้องถิ่นอื่น ๆ ในต่างจังหวัดได้เนินโครงการในลักษณะเดียวกันด้วยราคากลางและงบประมาณที่น้อยกว่า กทม.ถึงราว 3 เท่าตัว

เช่น โรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ (MW) ต.โนนทอน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งได้สัมปทานสัญญาในรูปแบบ BOT ระยะเวลา 20 ปี (เช่นเดียวกับในร่างทีโออาร์ของ กทม.) มีกำลังการกำจัดขยะ 600 ตันต่อวัน ค่ากำจัดขยะตันละ 250 บาทในปีแรก แบะกำหนดเพิ่ม 10 % ในทุก 3 ปี หากคำนวณตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว อัตราค่าจ้างกำจัดขยะที่ จ.ขอนแก่น จะสูงสุดที่ไม่เกิน 490 บาทต่อตันเท่านั้น ขณะที่โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ตในปัจจุบันก็กำหนดอัตราค่าจ้างกำจัดขยะที่เพียง 300 บาทต่อตันเท่านั้น

3.การไม่กำหนดให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 25 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 57 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 58 บัญญัติไว้ ซึ่ง กทม.จะอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559

โดยอ้างว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก่อนเริ่มโครงการนั้น จึงไม่สอดคล้องกับประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในข้อ 4.5 “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ในประเด็นยุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์มิติที่ 1 คือ “มหานครปลอดภัย” ไร้มลพิษ นั่นเอง     

4.ความไม่สมบูรณ์ของร่างทีโออาร์และความไม่เหมาะสมของแหล่งที่มาในการสืบราคากลาง พบว่าบริษัทเอกชนที่เป็นแหล่งที่มาทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้มีข้อมูลใดๆที่จะบ่งชี้ถึงความชำนาญในการดำเนินโครงการเตาเผาขยะมูลฝอย โดยในเว็บไซด์ของบริษัทที่คาดว่าเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ก็ปรากฎเพียงข้อมูลติดต่อและภาพสำนักงานของบริษัทฯที่ตั้งอยู่ย่านยานนาวา กทม.เท่านั้น

เมื่อสืบค้นช้อมูลในระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร กระทรวงการคลังพบว่าบริษัท 1 ใน 3 เพิ่งเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 61 เดิมระบุประเภทธุรกิจไว้ว่า การขายส่งผลิตภัณฑ์ยาสูบ และค้าส่ง-ปลีกบุหรี่ ก่อนที่จะมีการแก้ไขประเภทธุรกิจเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา ระบุว่า "ผลิต-จำหน่ายไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน เช่น บริษัทกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเตาเผามูลฝอย" หรือเพียงไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่ กทม.จะประกาศร่างทีโออาร์โครงการนี้

5.รายละเอียดในร่างทีโออาร์ที่เข้าข่ายล็อกสเปค กีดกันผู้ประการรายอื่น หากนำคุณสมบัติประสบการณ์คู่สัญญารับจ้างงานจากหน่วยงานรัฐ ในลักษณะสัญญาสัมปทานในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) จะมีบริษัทในประเทศไทยผ่านมาตรฐานนี้เพียง 3 แห่งเท่านั้น และเมื่อนำ ISO 14001 การจัดการสิ่งแวดล้อม เข้ามาประกอบการพิจารณา จะทำให้เหลือบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ หรือมีสิทธิได้คะแนนทางเทคนิคเหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นอย่างเห็นได้ชัด

กรณีดังกล่าวสามารถบ่งชี้ได้ว่า การกำหนดร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่า 13,140 ล้านบาทนั้น ส่อไปในทางการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายที่จะเข้าร่วมประมูลงานดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้ อันเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 11 และหรือมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยชัดแจ้ง