ไม่พบผลการค้นหา
'ศรีสุวรรณ จรรยา' ร้องเรียน 'สตง.' สอบทีโออาร์โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน

ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้มายื่นคำร้องต่อผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบความผิดปกติทีโออาร์โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้จัดทำร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่า 13,140 ล้านบาท

ทั้งนี้การจัดทำทีโออาร์ดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายประการที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายที่วางแผนร่วมกันกับ กทม. อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อาทิ การกำหนดราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริงถึง 3 เท่าตัว คือ 900 บาทต่อตัน ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นอื่น ๆ ได้ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับ กทม. แต่ทว่ากลับมีราคากลางที่น้อยกว่า กทม.ถึงราว 3 เท่าตัว อาทิ โรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ (MW) จ.ขอนแก่น ซึ่งได้สัมปทานสัญญาในรูปแบบ BOT ระยะเวลา 20 ปี (เช่นเดียวกับในร่างทีโออาร์ของ กทม.) มีกำลังการกำจัดขยะ 600 ตันต่อวัน (ของ กทม.กำหนดขั้นต่ำ 1,000 ตันต่อวันต่อโรง) ค่ากำจัดขยะเพียงตันละ 250 บาทในปีแรก และกำหนดเพิ่มขึ้น 10% ในทุก 3 ปี หากคำนวณตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว อัตราค่าจ้างกำจัดขยะสูงสุดไม่เกิน 490 บาทต่อตันเท่านั้น

ขณะที่โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ตในปัจจุบันกำหนดอัตราค่าจ้างกำจัดขยะเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ได้กำหนดไว้ในร่างทีโออาร์โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยในอีกหลายๆจังหวัด อีกทั้งทุกโครงการมีการต่อยอดเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับ กฟผ. หรือ กฟภ. ซึ่งถือเป็นรายได้หลักอีกทางของบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนด้วย 

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดประเด็นที่ไม่ต้องจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 4/59 ซึ่งขัดต่อยุทศาสตร์ชาติ 20 ปี และขัดต่อแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปีด้วย ไม่มีการระบุการจำกัดไดออกซินที่เป็นปัญหาในการเผาขยะ ,ความไม่เหมาะสมของแหล่งที่มาในการสืบราคากลางอันมีลักษณะที่ส่อไปในทางทุจริต เพราะไปสืบราคากลางจากบริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเมื่อต้นปี 61 มาใช้ในการจัดทำร่างทีโออาร์ และต้องมีมาตรฐานสากล ISO 9001, 14001 และ OHSAS 

ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ในประเทศไทยมีบริษัทที่เข้าข่ายเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่จะผ่านการแข่งประมูล ดังนั้นจึงเข้าข่ายล็อคสเปคกีดกันผู้ประการรายอื่น ซึ่งจะยังผลให้รัฐ หรือ กทม. เสียประโยชน์อย่างมหาศาล หากปล่อยให้การกำหนดทีโออาร์ดังกล่าวผ่านพ้นไปและเข้าสู่การประมูลได้ จะเป็นการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และขัดต่อมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยชัดแจ้ง

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงต้องนำความไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ในการตรวจสอบและเอาผิด กทม.และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำทีโออาร์โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการจัดทำทีโออาร์ประมูลงานอื่นๆ ของรัฐต่อไป