คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำงานร่วมกันทั้ง 7 พรรค ซึ่งในวันนี้ (19 มิ.ย.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จะยื่นญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาสอบสวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยจะสอบสวนใน 4 ประเด็น
1. การได้มาซึ่งส.ว.มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ แม้จะมีการเปิดเผยจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ใช่ทางการ
2. คณะกรรมการดังกล่าวได้มีระเบียบวิธีกระบวนการ สรรหาอย่างไร เพราะการทำงานไม่เคยปรากฏต่อสื่อมวลชนและสาธารณชน
3. จะขอตรวจสอบว่าเป็นสมาชิก ที่ได้เครือญาติเป็นพวกพ้องบริวารได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยที่มาและรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
4. การใช้เงินงบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาทถูกนำไปใช้ชอบด้วยวิธีการงบประมาณที่ถูกต้องหรือไม่
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ จะเสนอญัตติเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่วมกันเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษากระบวนการแต่งตั้งส.ว.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีประเด็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส ทั้งรายชื่อคณะกรรมการสรรหาที่ไม่ถูกเปิดเผย ไม่ถูกเผยแพร่ ลงในราชกิจจานุเบกษา
ซึ่งมาทราบภายหลังว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นคนของคสช.และสรรหาตัวเองเข้าไปเป็นส.ว.หรือไม่จึงเป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ จะมีผลถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำประเด็นปัญหาเหล่านี้ ไปสู่การพิจารณาโดยกลไกของสภาผู้แทนราษฎร
นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ได้ศึกษาข้อมูลกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะขอตั้งญัตติด่วนเพื่อสอบสวน การกระทำของสมาชิกรัฐสภาที่อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 113 และมาตรา 114 ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด จะเห็นได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาได้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาได้อภิปราย โดยฝักใฝ่บุคคลใดบุคคลหนึ่งส่อขัดรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอเรียกร้องไปยังนายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภาให้เร่งบรรจุญัตติดังกล่าว และขอให้พิจารณาโดยด่วนในการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้เดินหน้าทำงานในฐานะฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล