ไม่พบผลการค้นหา
การเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ทั้งบริษัทโดย อีลอน มัสก์ กำลังสร้างความกังวลให้กับโลก ถึงแม้ว่ามัสก์จะอ้างว่าตนต้องการจะทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มของ “เสรีภาพทางคำพูด” ซึ่งความล้นเกินอาจนำซึ่งถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางกายภาพได้

ทางการของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ออกมาเตือนมัสก์ หลังจากมัสก์ปิดดีลการซื้อทวิตเตอร์ว่า ทวิตเตอร์จะต้องปฏิบัติตามกฎ หรือไม่เช่นนั้นจะถูกการคว่ำบาตร ตั้งแต่การปรับเงินไปจนถึงการแบนทั้งหมด ทั้งนี้ มัสก์เข้าซื้อทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้อยู่กว่า 217 ล้านบัญชี ในราคากว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) โดยมัสก์ระบุว่าตนเป็นพวก “นิยมเสรีภาพทางคำพูดแบบสุดโต่ง”

โฆษกรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวว่าบริษัทต่างๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ที่กำลังจะตราขึ้น ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มต้องปกป้องผู้ใช้จากเนื้อหาที่เป็นอันตราย หรือไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับการถูกปรับ 10% ของมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก หรือหากมีการกระทำความผิดซ้ำ แพลตฟอร์มนั้นจะถูกแบนโดยสมบูรณ์

“ทวิตเตอร์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องปกป้องผู้ใช้ของตนจากอันตรายบนเว็บไซต์ของตนเอง เรากำลังเสนอกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ฉบับใหม่เพื่อปกป้องเด็กๆ ป้องกันพฤติกรรมความรุนแรง และคุ้มครองเสรีภาพทางคำพูด บริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งหมดที่มีผู้ใช้อยู่ในสหราชอาณาจักรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ หรือถูกปรับจำนวนมาก และถูกบล็อกเว็บไซต์”

เทียร์รี บรีตัน คณะกรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายในออกมาย้ำเตือนว่า มัสก์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายการให้บริการทางดิจิทัลฉบับใหม่ ซึ่งบังคับให้แพลตฟอ์รมออนไลน์เข้ามาจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่นเดียวกันกับถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นรถหรือโซเชียลมีเดีย ทุกบริษัทที่เปิดทำการอยู่ในยุโรปจะต้องปฏิบัติตามกฎของเรา โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนการถือหุ้น” บรีตันระบุบนทวิตเตอร์ “คุณมัสก์ย่อมรู้ในเรื่องนี้ดี เขาคุ้นเคยกับกฎเกณฑ์ของยุโรปในเรื่องยานยนต์ และจะสามารถปรับตัวเข้ากับฎหมายการให้บริการทางดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว”

บรีตันได้ให้สัมภาษณ์กับทาง The Financial Times ว่า “เราต้อนรับทุกคน เราเปิดรับแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเรา อย่างน้อยเรารู้ว่าเราจะบอกอะไรกับเขา ‘อีลอน มันมีกฎอยู่นะ คุณเป็นที่ต้อนรับ แต่นี่คือกฎของเรา มันไม่ใช่กฎของคุณที่จะถูกนำมาใช้ที่นี่’” บรีตันย้ำว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2567 โดยกฎหมายฉบับนี้สามารถทำให้มัสก์ถูกปรับสูงถึง 6% ของมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก และถูกแบนแพลตฟอร์มทันทีหากมีการกระทำผิดซ้ำ

กฎหมายจะยังบังคับให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ อนุญาตให้ผู้ใช้ตั้งค่าสถานะเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น การส่งเสริมการก่อการร้ายหรือการหลอกลวงทางการค้าด้วยวิธีที่ "ง่ายและมีประสิทธิภาพ" เพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถลบเนื้อหาดังกล่าวออกได้อย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้าม  มัสก์ได้ออกมาทวีตข้อความสวนกลับจากการประกาศของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรถึงความกังวลในครั้งนี้ว่า “ปฏิกิริยาภูมิต้านทานแบบสุดโต่งจากคนที่กลัวเสรีภาพทางคำพูดได้ถูกเผยออกมาหมดแล้ว” ก่อนที่ในเวลาต่อมา มัสก์จะออกมาแสดงความเห็นใหม่ว่าตนจะปฏิบัติตามกฎระเบียบ “โดย ‘เสรีภาพทางคำพูด’ ผมหมายถึงสิ่งที่ถูกกฎหมาย ผมต่อต้านการเซ็นเซอร์ที่ไปไกลกว่ากฎหมาย หากประชาชนต้องการเสรีภาพในการพูดน้อยลง พวกเขาจะขอให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อผลนั้น ดังนั้นการก้าวข้ามกฎหมายจึงขัดต่อเจตจำนงของประชาชน”

กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ ไปจนถึงฮิวแมนไรตส์วอตช์ยังได้ออกมาแสดงความกังวลถึงการเข้ามาซื้อกิจการทวิตเตอร์ของมัสก์ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุว่าการลดมาตรการ “เสรีภาพทางคำพูด” ของมัสก์อาจส่งผลให้เนื้อหาที่เป็นอันตรายถูกส่งต่อทั่วแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเกลียดชังและตามมาซึ่งการใช้ความรุนแรง ยังไม่นับถึงผลกระทบถึงกลุ่มคนอย่างผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วย


ที่มา:

https://www.theguardian.com/technology/2022/apr/26/twitter-takeover-jack-dorsey-elon-musk?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1dPqa0-FnSmNaG_W3oY5-s7goC8hu6qD74pOTT0xA0Rkm8at7RjdPmItE

https://www.ft.com/content/22f66209-f5b2-4476-8cdb-de4befffebe5