ไม่พบผลการค้นหา
วิศรุต สวัสดิ์วร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคก้าวไกล ยันอุบลฯ จมน้ำร่วมเดือน รัฐเตือนภัยผิดพลาดต้องยกของขึ้นที่สูงทุกวัน เพราะระดับน้ำที่สูงขึ้นต่อเนือง ซัดไร้การเตรียมตัว ไร้การจัดการศูนย์อพยพ ชาวบ้านเสียหายรวมกว่าหมื่นล้าน

วิศรุต สวัสดิ์วร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อุบลราชธานี เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการน้ำในลุ่มน้ำภาคอีสานของรัฐบาลว่า จังหวัดอุบลน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 เดือนกว่าแล้วที่คนอุบลต้องทนอยู่กับน้ำท่วม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยชาวบ้านฟังการแจ้งเตือนภัยจากรัฐบาล แต่ระบบการเตือนภัยผิดพลาดสับสน จากเดิมที่บอกว่าน้ำท่วมไม่เกินปี 2545 ต่อมาประกาศเพิ่มเป็นไม่เกินปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันน้ำท่วมสูงกว่าปี 2562 แล้ว การพยากรณ์ที่ผิดพลาดทำให้ชาวบ้านต้องยกของขึ้นที่สูงทุกวัน ตามที่รัฐบาลพยากรณ์ใหม่ทุก 2 วัน

อีกทั้งการจัดการศูนย์อพยพในช่วงต้นของการเกิดน้ำท่วมว่า ไม่มีการเตรียมตัว แม้แต่ศูนย์อพยพที่ไม่ได้มาตรฐานคนยังแย่งกัน คนแย่งเต็นท์กัน กว่าจะตั้งหลักได้ น้ำท่วมถึงศูนย์อพยพจุดที่ 2 แล้ว ทั้ง ๆ ที่ระดับน้ำของจังหวัดอุบลเป็นมวลน้ำที่มาจากที่อื่น ควรจะคำนวณระดับน้ำได้ แต่รัฐบาลกลับไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า “จ.อุบลน้ำท่วมแทบทุกปี ควรมีแผนเตรียมอพยพและศูนย์อพยพล่วงหน้าไว้ให้พร้อม โดยพิจารณาจากสถานที่ราชการบางส่วน สนามกีฬา เพื่อใช้เป็นศูนย์อพยพที่ได้มาตรฐาน”

วิศรุตกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนคือ ชาวบ้านที่อยู่ในน้ำมาแล้วกว่า 1 เดือน เงินหมดกระเป๋าแล้ว มูลค่าความเสียหายหอการค้าประมาณการไว้กว่า 10,000 ล้านบาท การคมนาคมและการทำมาหากินของประชาชนถูกตัดขาด อาชญากรรมในพื้นที่เริ่มเพิ่มขึ้น ในส่วนนี้พรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลใช้งบกลางโอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนในระหว่างน้ำท่วมเป็น “เบี้ย” น้ำท่วม ทันทีคนละ 3,000 บาท

“วงเงินล่าสุดที่รัฐบาลอนุมัติลงมาครัวเรือนละ 3,000 บาท ยังไม่เพียงพอแต่ดีกว่าไม่ได้ เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้คือต้องทำให้เงินมาถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด” วิศรุตกล่าว

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ปัญหาทั้งระบบ ว่าภาครัฐต้องมีเครื่องมือที่เป็นแบบจำลองคำนวณปริมาณน้ำและพื้นที่รับน้ำเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับมวลน้ำ ต้องระบุล่วงหน้าให้ได้ว่าพื้นที่ใดควร “สู้” “อยู่” หรือ “หนี” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันโมเดลเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันเป็นปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มนำมาใช้ในพื้นที่คันกั้นน้ำรอบกรุงเทพฯ เท่านั้น พร้อมตั้งคำถามดัง ๆ ถึงรัฐบาลว่าเรามีหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำอย่าง สทนช. แล้ว แต่ถ้ายังอยู่ภายใต้การบริหารงานของ รปภ. ที่มาขับเครื่องบิน ทำเป็นชี้โน่นนี่นั่นแล้วก็ไป ทิ้งปัญหาไว้เหมือนเดิม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังวนเวียนไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยียวยาช่วยเหลือแบบลูบหน้าปะจมูกเหมือนเดิม ปีหน้าฝนมาใหม่ก็ท่วมเหมือนเดิม ประชาชนเดือดร้อนกันต่อไปเหมือนเดิม เหมือนเดิมมากว่า 8 ปีแล้วนะแต่ปีนี้หนักหน่อยเพราะฝนมาก หากรักประชาชนจริงก็ช่วยพิจารณาตัวเองได้แล้ว