ไม่พบผลการค้นหา
'เก่ง การุณ' โพสต์เฟซบุ๊กระบุการเลือก 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการเสนอชื่อในขั้นตอนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

นายการุณ โหสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน กรณีการให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี นั้น  

นายการุณ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 เป็นที่ชัดเจนว่า การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการไม่ชอบด้วย รธน.2560 

กล่าวคือ ที่มาของ รธน. 60 ได้ผ่านการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 หลังจากผ่านประชามติและ ก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การขัดกันของ ก.ม. กรณี การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตาม มาตรา 272 ของบทเฉพาะกาล (ใน 5 ปีแรกที่ ส.ว.จำนวน 250 รวมเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี) ขัดกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 (ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี) หรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 6/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 สรุปว่า มาตรา 272 ไม่ขัด มาตรา 195 เพราะกระบวนการเสนอชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีได้กระทำโดยสภาผู้แทนเท่านั้น ตามมาตรา 195 วรรค 2 ที่มาตรา 272 บทเฉพาะกาลไม่ได้ยกเว้นไว้ และการเห็นชอบผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีกระทำโดยรัฐสภา ตามมาตรา 272 ของบทเฉพาะกาล สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกระบวนการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร และการรับรองนายกรัฐมนตรีเลือกโดยรัฐสภา มีกระบวนการเป็น 2 ขั้นตอนแยกจากกันชัดเจน คือ

ขั้นตอน 1 ให้สภาผู้แทนราษฏรเสนอชื่อบุคคลที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องการกระทำโดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งการเสนอชื่อต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ถ้า ส.ส.ประชุมครบ 500 คน ต้องทีผู้รับรอง 50 คน)

ขั้นตอนที่ 2.การให้เห็นชอบผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอน 1 แล้ว ต้องกระทำการประชุมโดยรัฐสภา( ส.ส.+ส.ว.จำนวจ 750 คน) และต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา(ถ้าประชุมครบคือ 376 คน)

ดังนั้น กรณีการดำเนินการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีการเสนอชื่อในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กฏหมายบัญญัติไว้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 ที่วินิจฉัยไว้ก่อนนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 

ม.272 ไม่ได้ยกเว้น ม.159 วรรค 2 ที่ต้องให้เสนอชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีผู้รับรอง 1 ใน10


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :