ไม่พบผลการค้นหา
ออสเตรเลียประกาศมาตรการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต่อผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางมาจากจีน แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับบนจะออกมาต่อต้านพร้อมระบุว่า มาตรการดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลเพียงพอ ในด้านสาธารณสุข ต่อการบังคับใช้กฎการเดินทางเข้าประเทศใหม่ของรัฐบาลออสเตรเลีย

ในหนังสือที่ส่งถึง มาร์ค บัตเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ธ.ค.) พอล เคลลี่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การสาธารณสุขของออสเตรเลียกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่ามันจะมีเหตุผลด้านสาธารณสุขใดๆ ที่เพียงพอ ในการออกข้อกำหนดการเดินทางใหม่สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจีน

เคลลี่ระบุว่าระดับการฉีดวัคซีนของออสเตรเลียที่สูง การติดเชื้อในประเทศก่อนหน้า และข้อเท็จจริงที่ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BF.7 ซึ่งดูเหมือนจะระบาดอย่างหนักในจีนตอนนี้ได้แพร่ระบาดในประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว โดยท่ามกลางเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้มาตรการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในผู้เดินทางจากจีนมาออสเตรเลียนั้นไม่มี “เหตุผลด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ” สำหรับกฎการเดินทางใหม่

ในปัจจุบันนี้มี “ฉันทามติที่หนักแน่น” ในหมู่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทางภาครัฐต่างๆ ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ว่า การจำกัดการเดินทางจากจีนเข้ามายังประเทศของตัวเองจะ “ไม่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการโควิด-19 ของประเทศในปัจจุบัน และไม่สมส่วนกับความเสี่ยง” เคลลี่ระบุ

อย่างไรก็ดี เคลลี่แนะนำว่าแทนที่รัฐบาลออสเตรเลียจะจำกัดการเดินทางของผู้เดินทางมาจากจีน รัฐบาลควรพิจารณาขยายการทดสอบน้ำเสีย ด้วยการออกมาตรการการสุ่มตรวจตัวอย่างอาสาสมัครแก่ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ และปรับปรุงการติดตามผลผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเก็บประวัติการเดินทางในต่างประเทศล่าสุด

แม้จะมีคำแนะนำดังกล่าวออกมา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียได้ประกาศในวันต่อมา (1 ม.ค.) ว่า ผู้เดินทางจากจีน รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 และมีผลเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทางมาถึงออสเตรเลีย

บัตเลอร์กล่าวว่า เขาตัดสินใจ “ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่มีพลวัตและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในจีน และศักยภาพที่โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะอุบัติขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีการแพร่เชื้อสูง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียย้ำต่อว่า ในช่วงการตัดสินใจออกมาตรการนั้น เขาได้รับการ “สรุปอย่างครอบคลุม” โดยเคลลี่ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของคำแนะนำที่เขาได้รับ บัตเลอร์ยังได้กล่าวปกป้องมาตรการดังกล่าวว่า “พอประมาณ” และ “ใช้การตัดสินใจที่สมดุล” แล้ว

หนังสือของเคลลี่ถึงบัตเลอร์ ได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุออสเตรเลียเมื่อคืนวันจันทร์ (2 ม.ค.) ทั้งนี้ การออกมาตรการดังกล่าวของออสเตรเลียมีขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ออกมาตรการที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ แคนาดายังได้ประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า ประเทศของตัวเองจะเริ่มการตรวจหาเชื้อผู้เดินทางมาจากจีนตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.เป็นต้นไป

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลียได้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลที่ว่า กรณีการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในจีนหลังจากรัฐบาลจีนยกเลิกนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ที่เข้มงวด อาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางคนวิจารณ์ข้อกำหนด ในการตรวจหาเชื้อดังกล่าวว่าช่วยหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้เพียงเล็กน้อย และเสี่ยงต่อการกระตุ้นความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ

ในทางตรงกันข้าม จีนวิจารณ์มาตรการบังคับตรวจหาเชื้อของประเทศต่างๆ ต่อผู้เดินทางมาจากจีนว่า “ไม่จำเป็น” ในขณะที่สื่อของรัฐบาลจีนตำหนิมาตรการดังกล่าวว่า “ไม่มีมูลความจริง” และ “เลือกปฏิบัติ” ทั้งนี้ จีนมีกำหนดการยกเลิกการกักตัวภาคบังคับ สำหรับผู้ที่เดินทางมาถึงประเทศตัวเองตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.นี้เป็นต้นไป หลังจากที่รัฐบาลจีนปิดพรมแดนอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 3 ปี อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางขาเข้ามาถึงจีนยังคงต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/economy/2023/1/3/australias-covid-tests-for-china-overruled-health-advice?fbclid=IwAR1zuua145jP8gS4ssewJzhaDKGE5R1S1Vm4dCVds2CNsbzrLUTnU9YSa7k